จากกรณีฝนตกหนักทำให้ในพื้นที่จังหวัดระยองน้ำท่วมหลายหมู่บ้าน นั้นทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบ กยท.จังหวัดระยองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกสายเดินให้การช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง
นายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคกลางและภาคตะวันออก นายคารม คงยก ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง มอบหมายให้นายเด่นชัย ชุมผอม ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยสาขาแกลง เข้าพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย(น้ำท่วม) และติดตามสอบถามข้อมูลเบื้องต้น
ของสวนยางพาราที่ประสบภัยในพื้นที่ อำเภอแกลง และอำเภอวังจันทร์ในเวลาต่อมาได้มอบน้ำดื่มเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยที่จุดบริการของทั้ง 2 อำเภอ และได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำลดและแนะการยื่นเอกสารเพื่อขอรับเงิน กองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49(5) เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนต่อไป
นายเด่นชัยชุมผอม ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยสาขาแกลง เข้าพื้นที่ตรวจสอบสวนยางประสบภัยน้ำท่วม นางอุไรรัตน์ กุหลาบสีหมู่ 4 ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จากการตรวจสอบดังกล่าวต้นยางเสียหายจำนวน 350 ต้น เข้าพื้นที่ หมู่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอแกลง มีสวนประสบภัยจำนวน 3 แปลงใหญ่ พื้นที่เสียหายประมาณ 100 ต้น
อย่างไรก็ดี ต้นยางพาราเป็นพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กยท. แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม รวมถึง การเฝ้าระวังเรื่องโรคยางพาราที่มากับช่วงหน้าฝน คือ โรคใบร่วงไฟทอฟธอรา (Phytophthora)
เกษตรกรควรบำรุงรักษาสวนยางให้สมบูรณ์โดยใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนและ ปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความทนทานแข็งแรงให้ต้นยาง เกษตรกรในรายที่ปลูกพืชร่วมยาง ควรจัดการสวนยางให้โปร่งอยู่เสมอ ไม่ให้สวนยางมีความชื้นสูง และควรกำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องได้สะดวกทั่วถึง เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
สำหรับหลักเกณฑ์ดังนี้ ต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายในราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท หรือกรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัยซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวน จะให้ระงับการ ปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน
กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น (พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น กยท. จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่งและ ค้ำยันให้ตรงได้ กยท. จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยางฯ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อัตราต้นละ 110 บาท