นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดระยอง แจ้งข่าวผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ว่าสวนยางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดนน้ำพัดถอนรากถอนโคนล้มไปหลายต้น แต่หลายคนไม่ทราบว่าระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ ใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่สวนยางประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งตนก็ได้แนะนำว่าให้ถ่ายรูปแล้วแจ้งความลงบันทึกประจำวันให้นำสำเนาไปส่งที่ กยท.สาขาใกล้บ้าน เพื่อจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาต่อไป
"สำหรับชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ สวนยางนายโสภณ ควรหา บ้านหนองสัก ม.5 ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง เนื้อที่ ประมาณ 4ไร่ นำ้ท่วมขังมาแล้วต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน และ นางอุไรรัตน์ กุหลาบสี หมู่ 4 ตำบลบ้านนา อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ 5 ไร่ และนายสายัณห์ จริตงาม พื้นที่ 11 ไร่ ตอนนี้กำลังทยอยส่งชื่อมาเรื่อยๆ "
อนึ่ง กยท. สวัสดิการที่จัดสรรให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากสวนยางที่ประสบภัย ตามระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 49 (5) โดยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางกรณีสวนประสบภัย ไม่ว่าจะเป็น อัคคีภัย อุทกภัย หรือวาตภัย ทั้งนี้ กยท.มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยในเบื้องต้น หากสวนยางได้รับผลกระทบจนเสียสภาพสวน คือ ต้องมีต้นยางพาราเสียหายคราวเดียวกัน ไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละไม่เกิน 3,000 บาท
ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องเป็นเกษตรฯที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และที่ดินของสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงสามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือต่อพนักงาน กยท. ในพื้นที่ใกล้สวนยาง ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประสบภัยหรือนับจากวันที่เหตุพิบัติภัยนั้นได้สิ้นสุดลง แล้วแต่กรณี ซึ่งทาง กยท. จะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่และให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด