นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) อุดรธานี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั้ง 186 แห่ง ใน 20 อำเภอของจังหวัด จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ด้วยการ”ปลูกไผ่ มีไม้ ได้อาหาร “ โดยส่งเสริมการปลูกไผ่กิมซุง หรือไผ่หวาน หรือ ไผ่ตง ซึ่งเป็นต้นไผ่พันธุ์โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง
สืบเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในภาพกว้าง เศรษฐกิจซบเซา อาชีพค้าขายทุกชนิดได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อัตราการว่างงานเพิ่มอัตราสูงขึ้น เพราะมีสถานประกอบการหลายแห่งปิดตัวเองลง ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะภาคอีสานมีปัญหาดังกล่าวมาก
ซึ่งการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ก็ประสบปัญหา เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่ง ที่ได้เดินทางไปทำงานในส่วนกลางและปริมณฑลเป็นเวลานาน พอมาอยู่ที่บ้านเกิดกลับมาทำการเกษตรก็ไม่ถนัด อบจ.อุดรธานีได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันในหลาย ๆ ภาคส่วน มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรวิถีใหม่ และให้ความสำคัญแก่ภาคการเกษตรพื้นฐานมากขึ้น
ทั้งนี้ การทำการเกษตรนั้นเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยอยู่ จึงง่ายต่อการอบรมให้ความรู้ในด้านการทำเกษตร และเพื่อให้เกษตรกรไทยได้มีการดำรงวิถีชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเอง หาเลี้ยงชีพได้ ใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียง ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายวิเชียรกล่าวอีกว่า อบจ.อุดรธานี ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด และเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้จัดทำโครงการนี้ร่วมกับ อปท.ขนาดเล็กทั้ง 186 แห่ง ในรูปแบบของอบรมให้ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไผ่กิมซุง ให้กับประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
จากนั้นให้บุคคลเหล่านี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชนต่อไป เป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ประชาชนจังหวัดอุดรธานี เพราะต้นไผ่กิมซุง สามารถปลูกในพื้นที่ว่างหัวไร่ปลายนา เป็นไม้ที่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว แม้แต่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร โดย อบจ.อุดรธานี เป็นผู้สนับสนุนต้นกล้าพันธ์ต้นไผ่กิมซุง ที่ได้มีการเตรียมเอาไว้แล้วบางส่วน
นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดสู่การแปรรูปอาหาร ทำเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร หรือส่งขายหน่อสดแก่พ่อค้าแม่ค้าขายให้ประชาชน เพื่อนำเอาไปประกอบเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ ในครัวเรือน เนื่องจากหน่อไผ่กิมซุง เป็นไผ่หวาน เป็นพืชเศรษฐกิจใช้หน่อเป็นอาหาร หรืออุตสาหกรรมอาหาร ลำต้นเอาใช้ประโยชน์ทำเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานได้สารพัดประโยชน์ คนไทยสมัยก่อนผูกพันกับไม้ไผ่มาก เพราะใช้ตัดสายสะดือเด็กแรกเกิดแทนใบมีดโกน
โครงการนี้จึงเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ให้สามารถฟื้นตัวกลับมามีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดี แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ให้สามารถประคองตัวอยู่ได้ระดับหนึ่ง ด้วยความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ นายวิเชียรกล่าวทิ้งท้าย