นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

25 เม.ย. 2565 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 12:43 น.

เทศบาลนครอุดรธานีปัดฝุ่น เชื่อมโยงชุมชนหลากวัฒนธรรมในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง จัดโซนเป็นถนนสายวัฒนธรรม พร้อมเข้าบูรณาการปรับแต่งให้โดดเด่นปลอดภัย เป็น Walkable City ให้คนเดินช็อปชิมอย่างสบายใจแม้ไปคนเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่เทศบาลนครอุดรธานีตั้งสภาพลเมืองขึ้นมา เพื่อให้ตัวแทนชุมชนร่วมเสนอความเห็นการพัฒนาเมืองอุดรธานี ล่าสุดมีความเห็นร่วมกันในการนำจุดเด่นของเมือง มาสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรอง รับอนาคตปี 2569 ที่จังหวัดอุดรธานี จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมระดับนานาชาติ 2 งานใหญ่ คือ เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก อุดรธานี และ เจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาแห่งชาติ

 

ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการสร้างนครอุดรธานี เพื่อเป็นเมืองเดินได้ (Walkable City) โดยปรับปรุงทางเท้าให้สะดวกปลอดภัย และเชื่อมโยงย่านต่างๆ ที่โดดเด่นเป็นเส้นทางเดินเที่ยวชมเมือง เชื่อมโยงถนนสายวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ที่ผสมผสานและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มาเป็นตัวตั้ง

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

เริ่มแต่เช้าร่วมทำบุญตักบาตร จากนั้นเลือกรับประทานอาหารเช้าหลายแบบ เสร็จแล้วสามารถเดินเล่นชมเมือง จับจ่ายสินค้าที่สนใจ แบบชิลๆ ในชุมชนวัฒนธรรมต่างๆ ของโซนเมือง หรือจะไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดตามโปรแกรมที่วางไว้ก็ได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่

 

จุดแรกเริ่มที่ถนนนเรศวร ที่ต้้งวัดป่าบ้านจิก ที่หลวงปู่ถิรจิตธัมโม เคยเป็นเจ้าอาวาส และเป็นหนึ่งในวัดที่ททท.จัดอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวธรรมะ ร่วมตักบาตรพระสงฆ์ที่จะออกบิณฑบาตทุกเช้าเป็นทิวแถว สวยงาม จึงเป็นถนนสายธรรมะกลางเมือง

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

ถนนสายนี้ยังมีร้านอาหารนานาชนิด ทั้งไทย จีน เวียดนาม อาหารถิ่น ร้านกาแฟ ไอศครีม หรือร้านนวดสปา ดอกบัวแดง ให้เลือกหารับประทานเป็นอาหารเช้าได้ตามความชอบ เป็นย่านที่มีจุดเด่นอยู่แล้ว เพียงปรับปรุงพัฒนาอีกเล็กน้อย ก็พร้อมเป็นถนนสายวัฒนธรรม และถนนคนเดินเพื่อชม ชิม ช็อป ได้อย่างน่าสนใจ

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

จุดต่อมาคือ สี่แยกถนนนเรศวรตัดกับถนนศรีชมชื่น เป็นย่านตลาดอาหารปรุงสุกเช้า-เย็น ที่ชาวอุดรฯนิยมมาซื้อหาไปรับประทานที่บ้าน หรือเตรียมไปเป็นอาหารกลางวัน และยังเป็นย่านถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิม หรือคุ้มแขก มีมัสยิด ร้านอาหารมุสลิมแท้ ๆ ไว้บริการ

 

ต่อเนื่องกันเป็นถิ่นของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม สืบทอดเชื้อสาย จากชาวเวียดนามอพยพที่ข้ามนํ้าโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ พ.ศ. 2489 มีสมาคมชาวเวียดนาม ตั้งอยู่คอยควบ คุมดูแลประสานงานกับทางราชการ และทางประเทศเวียดนาม เทศบาลจะเข้าไปบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นถนนวัฒนธรรมเวียดนาม ที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม ที่อยู่ ร่วมกันอย่างลงตัว

นครอุดรฯ ปั้นเมืองคนเดิน ‘ช็อปชิมชิล’ ถนนหลากวัฒนธรรม

ขาดไม่ได้คือย่านวัฒนธรรมจีน ที่มีประวัติมายาวนาน คือ ศาลเจ้าปู่ย่าอุดรธานี ตั้งอยู่ริมหนองฉิม หรือหนองบัว เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนจีนไม่เพียงในเมืองไทย แต่ไปไกลถึงต่างประเทศ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ใกล้กันมีศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน เป็นแหล่งความรู้ทางวัฒนธรรมจีนในพื้นที่อนุภาคลุ่มนํ้าโขง

 

ทางเทศบาลฯจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลและปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนรอบๆ หนองบัว ให้เป็นบรรยากาศจีนๆ มากขึ้น พร้อมกับปรับปรุงถนนรอบหนองบัวให้สะอาด ปลอดภัย ให้ชุมชนโดยรอบที่อยู่กันหนาแน่นได้ใช้สัญจร และเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย

 

เทศบาลนครอุดรธานี ยังมีนโยบายสร้างเมืองให้ปลอดภัย เหมาะแก่การเดิน หรือ Walkable City โดยร่วมกับกองบังคับการตำรวภูธรจังหวัดอุดรธานี กองบัญชาการตำรวจภาค 4 กำหนดพื้นที่เขตเทศบาลนครอุดรธานี ให้เป็นเขต “เซฟตี้โซน” ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง กล้อง CCTV และขยายพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุมทั้ง 105 ชุมชน และจะต่อเนื่องพื้นที่เทศบาลบริวารโดยรอบทั้ง 4 เทศบาลในอนาคตต่อไป เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมทุกชนิด ที่เรียกว่า “ผู้หญิงคนเดียวก็เดินเล่นได้อย่างปลอดภัย” เชิญชวนให้คนไปใช้สวนสาธารณะเพื่อพักผ่อน ออกกำลังกาย

 

“เป็นการเตรียมความพร้อมของเมือง ให้สวยงามปลอดภัยสูงสุด รองรับอนาคตเมืองในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งในด้านการเดินทางท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ สู่การเป็นศูนย์กลางของการค้า การลงทุน การบริการ เป็นประตูสู่กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง ที่สำคัญคือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอุดรธานีจากเมืองรอง ให้ยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก และการท่องเที่ยวชุมชนให้ได้” ดร.ธนดร กล่าวยํ้า 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,777 วันที่ 24-28 เมษายน พ.ศ.2565