เปิดตำนานใหม่ “รถเมล์สาย 8” เก็บค่าโดยสารเท่าไร-ให้บริการเมื่อไร

19 ส.ค. 2565 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 14:19 น.

“คมนาคม” คิกออฟ “สาย 8 แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ” เริ่มเก็บค่าโดยสารเท่าไร ให้บริการเมื่อไร ใครได้สิทธิ์บ้าง เตรียมยกเครื่องปรับโฉมรถโดยสารอีวี 1.2 พันคัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธในเบื้องต้น 20 คัน จากทั้งหมด 40 คัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปรถโดยสารของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ในระยะแรกจะมีการทดลองนำร่องทั้งหมด 150 คัน กระจายไปในเส้นทางอื่นๆ

 

 

“ได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกเจรจากับผู้ประกอบการขนส่งให้พิจารณาลดอัตราค่าโดยสารให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบกภายหลังเจรจากับผู้ประกอบการขนส่งแล้วทราบว่า บริษัทได้พิจารณาจัดเก็บค่าโดยสาร ที่ราคา 10 บาท ตลอดสาย เป็นเวลา 3 เดือน เป็นอย่างน้อย”

เปิดตำนานใหม่ “รถเมล์สาย 8” เก็บค่าโดยสารเท่าไร-ให้บริการเมื่อไร

 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบกว่าได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งตามแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง โดยผู้ประกอบการขนส่งจะเริ่มนำรถใหม่มาให้บริการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่เป็นรถปรับอากาศรูปแบบใหม่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่สามารถให้บริการผู้โดยสารที่ใช้ Wheel Chair ติดตั้งและใช้เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) ติดตั้งและใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket System) ติดตั้งระบบ CCTV เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เส้นทางการเดินรถที่ครอบคลุม เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ ตอบโจทย์การเดินทาง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการจราจร และปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5  
 

ส่วนการเดินรถจะเริ่มในเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ 8 แฮปปี้แลนด์ - ท่าเรือสะพานพุทธ สายที่ 1 พระราม 3 - ท่าเตียน สายที่ 82 ท่าน้ำพระประแดง - บางลำพู สายที่ 34 บางเขน - ถนนพหลโยธิน - หัวลำโพง และสายที่ 17 พระประแดง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และในเดือนกันยายนจนถึงปลายปี 2565 จะสามารถทยอยนำรถใหม่มาให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ ได้ครบทั้ง 77 เส้นทาง จำนวน 972 คัน และยังมีผู้ประกอบการขนส่งรายที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จำนวน 278 คัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,250 คัน และในส่วนของเส้นทางการเดินรถโดยสารทั้งหมด 237 เส้นทางในกรุงเทพมหานครจะดำเนินการเปลี่ยนเป็นรถ EV ให้ครบทั้งหมดในระยะต่อไป

 

 

เปิดตำนานใหม่ “รถเมล์สาย 8” เก็บค่าโดยสารเท่าไร-ให้บริการเมื่อไร
ทั้งนี้ประชาชนผู้เดินทางซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และในระยะต่อไปบริษัทได้มีการวางแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางในแต่ละวันของพี่น้องประชาชน โดยการจัดทำตั๋วรายวันซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางภายในระบบรถโดยสารเอง และต่อเนื่องไปยังระบบการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ นอกจากนี้ สำหรับพนักงานขับรถและผู้ประจำรถของผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการออกใบอนุญาตประกอบการให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกรวบรวมรายชื่อพนักงานหรือลูกจ้างของผู้ประกอบการรายเดิม และประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งรายใหม่พิจารณารับพนักงานและลูกจ้างดังกล่าวเข้าเป็นพนักงานต่อไป

 

 

สำหรับเป้าหมายการเปิดให้บริการ คือการบรรจุรถขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 1,250 คัน ภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนอัตราค่าโดยสาร จะเท่ากับอดีต 15-25 บาท ตามระยะทาง และจะมีการจำหน่ายบัตรโดยสารหรืออี-ทิกเก็ต หากเดินทางในวันนั้น ครบ 40 บาทเฉพาะกลุ่มบริษัทไทย สมายล์บัส ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และยังสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ด้วย
 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอกชนยังเสนอขอเชื่อมต่อระบบอื่นๆ เช่น รถไฟทางไกล เรือ รถไฟฟ้า โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนว่าภายใน 3 ปีจะเปลี่ยนจากรถร้อนมาเป็นรถปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มีการออกแบบเพื่อผู้พิการ บัตรโดยสารระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยหลังจากนี้จะมีการประเมินผล 60  วันจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการประชาชนได้หรือไม่พร้อมสั่งการให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเรื่องเส้นทางและการเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์ และเตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดเมื่อครบ 237 เส้นทางอีกครั้ง ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีสาย 8  เดิมที่ยังให้บริการอยู่ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2566

เปิดตำนานใหม่ “รถเมล์สาย 8” เก็บค่าโดยสารเท่าไร-ให้บริการเมื่อไร

 

นางสาวกุลพรภัสร์  วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด เปิดเผยว่า เป็น รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ในเฟสแรกมีทั้งสิ้น 153 คัน จะทยอยนำมาใช้ล็อตแรก 40 คันเริ่มวิ่งวันพรุ่งนี้ และจะนำออกมาวิ่งครบทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมติดตั้งตู้ชาร์ตแบบฟาสต์ชาร์ต กำลังไฟ  310 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์ตหนึ่งครั้ง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที วิ่งได้ 4  รอบ 280 กม.ต่อวัน ซึ่งมีกระจายตามอู่ต่างๆ ทั้ง 8 อู่ อู่ละ 20 หัวชาร์ต ครอบคลุม 71 เส้นทางที่บริษัทฯได้รับสัมปทาน มีแผนเปิดให้บริการ ภายในปี 2565 นี้

 

 

นอกจากนี้รถทุกคันได้ติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket ซึ่งจะเริ่มใช้ 100% ได้เดือนหน้า (ก.ย.) ควบคู่กับการใช้เงินสด โดยเป็นการเติมเงินไม่จำกัดขั้นต่ำ ผ่านระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อเตรียมพร้อมเชื่อมต่อการเดินทาง แบบระบบเครือข่าย “รถ-เรือ-ราง” ครบวงจร ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมพนักงานขับรถ ซึ่งเรียกว่ากับตันเมล์ และพนักงานต้อนรับบนรถโดยสาร ที่เรียกว่าบัสโฮสเตสให้มีความรู้ ความชำนาญในเส้นทาง คำนึงถึงความปลอดภัย ด้วยสโลแกน“เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ”  โดยเก็บค่าโดยสารตามเดิม คือ 15 , 20 และ 25 บาท นอกจากนี้ได้รับพนักงานจากสาย 8 เดิม มาทำงานด้วยประมาณร้อยละ 15  ซึ่งผ่านการอบรม เพราะบางส่วนยังทำงานกับรถเมล์ร้อนที่ยังให้บริการอยู่