สมาคมการค้าและผู้ผลิตหลังคาดิ้น เตรียมยื่นหนังสือถึงรมว.กระทรวงพาณิชย์ ค้านออกมาตรการเอดีเหล็กเคลือบโลหะนำเข้าจากเวียดนาม 12 ต.ค.นี้ หลังโรงงานรีดหลังคากว่า 1,300 ราย เดือดร้อน หวั่นเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ และราคาสูงขึ้น สร้างภาระต้นทุนพุ่ง ขณะที่เอ็นเอส บลูสโคป ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ ระบุแม้มีเอดีสกัดก็เอาไม่อยู่ หลีกเลี่ยงนำเข้าพิกัดอื่นแทน
นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง เลขาธิการสมาคมการค้า ผู้ผลิตหลังคาเหล็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะรายใหญ่ ได้ยื่นเรื่องต่อกรมการค้าระหว่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้พิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบด้วยสังกะสีแบบชุ่มร้อนแล้วทาสี และเหล็กแผ่นรีดเย็นหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเวียดนาม มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนและในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จะเป็นการเปิดพิจารณารับฟังความเห็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับในช่วงสิ้นปีนี้ รวมทั้งจะมีการประกาศให้กฎหมายตอบโต้การหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดหรือเอซี สำหรับเหล็กที่มาจากจีน ไต้หวัน และเกาหลี ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวที่ออกมา จะส่งผลให้เหล็กเคลือบโลหะดังกล่าว ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหลังคา และผนังมีราคาสูงขึ้น จากการเก็บอากรนำเข้าที่สูงขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดนำเข้ามาหรือนำเข้ามาในปริมาณที่ลดลงจากปัจจุบันที่มีการนำเข้ามาประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี จากความต้องการใช้ในประเทศมีกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบนำไปผลิตหลังคาที่มีโรงงานกว่า 1,300 โรงอยู่ทั่วประเทศ และมีต่อไปยังราคาวัตถุดิบเหล็กเคลือบปรับตัวสูงขึ้น เป็นการสร้างความเดือดร้อนและภาระให้กับผู้ผลิตหลังคาและผนังได้
โดยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ทางสมาคมจะเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและให้คำแนะนำกับทางคต.พร้อมกับจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าวที่จะออกมา เพราะผู้ประกอบการผลิตหลังคาจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะการขาดแคลนวัตถุดิบเหล็กเคลือบโลหะ ที่ขณะเริ่มเกิดความขาดแคลนขึ้นแล้ว จากข่าวที่ภาครัฐจะมีมาตรการเอดี ทำให้เหล็กเคลือบโลหะจากจีนมีการนำเข้ามาในปริมาณที่น้อยลงแล้ว ขณะที่การนำเข้าจากเวียดนามก็ไม่สามารถผลิตป้อนให้ได้ทัน
นายพันธนวุฒิ กล่าวอีกว่า ดังนั้นอยากขอความเห็นใจจากทางภาครัฐ ให้มีการผ่อนปรนมาตรการเอดีออกไปก่อน จนกว่าจะมีวิธีการหรือมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความเดือดร้อนที่ลดลง เพราะขณะนี้เองกำลังการผลิตเหล็กเคลือบโลหะก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เพราะผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบริษัท เอ็นเอส บลูสโคปฯ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.6 แสนตันต่อปี และได้ลงทุนขนาดกำลังการผลิตอีก 1.4 แสนตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มผลิตในเดือนกรกฎาคม 2561 รวมเป็น 5 แสนตันต่อปี ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ หากมีมาตรการเอดีออกมาปกป้องผู้ผลิตเหล็กเคลือบภายในประเทศ เพื่อสกัดเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เหล็กเคลือบเกิดการขาดแคลนและราคาสูงขึ้นไป
นายสมเกียรติ ปินตาธรรม ประธานบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่บริษัทได้ยื่นขอให้มีการออกมาตรการเอดีเหล็กเคลือบโลหะที่มาจากเวียดนามนั้น ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่บริษัทได้ดำเนินการ แต่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอให้มีการออกมาตรการเอดีเหล็กเคลือบโลหะฯที่มาจากจีน ซึ่งมีผลใช้บังคับมากว่า 2 ปี แล้ว แต่ยังไม่สามารถสกัดการนำเข้าได้ เพราะหันไปหลีกเลี่ยงนำเข้าในพิกัดอื่นแทน ซึ่งในปริมาณเหล็กเคลือบโลหะที่นำเข้านี้เป็นของจีน และจากเวียดนามเกือบทั้งหมด
โดยเห็นว่าเหล็กเคลือบโลหะที่นำเข้ามานั้นมีราคาขายต่ำกว่าของบริษัทประมาณ 10-20 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดหรือคุณภาพของสินค้า ที่บริษัทจำหน่ายอยู่ราว 30-40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตภายในประเทศ ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ยังเป็นการทำลายอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ โดยเห็นได้จากที่ผ่านมาไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าลงทุนขยายกำลังเพิ่ม อีกทั้งกว่าบริษัทจะลงทุนขยายกำลังการผลิตอีก 1.4 แสนตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 4,500 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคมนี้ ก็ใช้เวลาตัดสินใจนาน เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากเหล็กเคลือบโลหะนำเข้า ซึ่งหากมีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมบริษัทลงตัดสินใจลงทุนไปก่อนหน้านี้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีแล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559