เศรษฐีแห่ตุนเงินนอก ส่งลูกเรียน-เที่ยวต่างประเทศ

27 มิ.ย. 2562 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2562 | 11:30 น.

บาทแข็ง ฉุดรายได้ท่องเที่ยววูบ 1.82 แสนล้านบาท ขณะที่คนไทยจะแห่ทัวร์นอกมากขึ้น บริษัทรับแลกเงินเผย ลูกค้าแห่ตุน 8 สกุลเงินต่างประเทศเที่ยวช่วง ไฮซีซัน-ส่งลูกเรียน “ปอนด์-เยน-ดอลลาร์ ฮ่องกง” ยอดฮิต

นักวิเคราะห์ประเมินเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในรูปเงินบาทที่มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท หายไป 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่คนไทยเองก็จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่าย 3.9 แสนล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าจะมีคนไทยเที่ยวต่างประเทศ 10.5-10.75 ล้านคน โต 5-7% สะท้อนจากประชาชนที่ทยอยแลกเงินกับบริษัทรับแลกเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

แห่ตุนเงินต่างประเทศ

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) จำกัด (SuperRich SPR) หรือ ซุปเปอร์ริชสีส้ม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าเข้ามาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อเตรียมไว้ให้ลูกหลานที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นการซื้อสกุลเงินปอนด์-อังกฤษ เป็นอันดับ1 และกลุ่มที่ซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้เพื่อไปท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) โดยจะเห็นสกุลที่เข้ามาซื้อล่วงหน้า จะเป็นเงินเยน-ญี่ปุ่น และเงินดอลลาร์-ฮ่องกง ซึ่งจะเห็นว่าในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้จะเป็นช่วงปิดเกาะของฮ่องกง ทำให้คนไทยเข้ามาซื้อเงินไว้ล่วงหน้าเพื่อไปท่องเที่ยวและช็อปปิ้ง

นายสัคสุพชร์ ลีละบรรยงค์ กรรมการบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่(20) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศครึ่งปีแรก พบว่าลูกค้าบุคคลนำเงินมาแลกเปลี่ยนในปริมาณมากขึ้น เช่น สกุลเงินในภูมิภาคเอเซีย จะแลกซื้อกัน 2-5 หมื่นบาทระยะเวลาท่องเที่ยว 3 วัน- 1 สัปดาห์ ระยะหลังเริ่มเห็นการแลกซื้อเพิ่มเป็น 5 หมื่นบาท- 1 แสนบาท ขณะที่การแลกซื้อสกุลเงินยูโร (EUR) ดอลลาร์(USD) และออสเตรเลีย (AUD)จากเดิมแลกซื้อตั้งแต่ 5 หมื่น- 1 แสนบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณ 3 แสนบาท ระยะเวลาเดินทางอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เศรษฐีแห่ตุนเงินนอก  ส่งลูกเรียน-เที่ยวต่างประเทศ

“ปัจจัยจากดอลลาร์อ่อนค่ากดดันให้เงินบาทแข็งค่ามาเกือบมากที่สุด เมื่อเทียบกับหลายสกุลในที่สะท้อนอ่อนค่าซึ่งตั้งแต่ต้นปีผ่านมา 6 เดือน พบว่า มีลูกค้าเข้ามาแลกซื้อเงินฯเพื่อเก็บไว้ค่อยไปเที่ยวในปลายปีโดยหลักๆ มี 8 สกุลเงินเป็นที่นิยมแลกซื้อกันในปริมาณมากขึ้น ขนาดเงินเยนที่เคยเป็น Safe Haven ยังอ่อนค่าลง ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มสวิง ซึ่งด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่นิ่งทำให้คนจึงเก็งกำไรระยะสั้น”

 

 

 

เผย 8 สกุลเงินยอดฮิต

สำหรับ 8สกุลเงินที่นิยมตั้งแต่ต้นปี2562 ได้แก่ สกุลเงินยูโร (EUR) อ่อนค่า 4.25 ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) อ่อนค่าลง 4.52% ดอลลาร์ (USD) อ่อนค่าลง 3.59% เยน (JPY) อ่อนค่า 2.55% ไต้หวันดอลลาร์ (TWD) อ่อนค่าลง 4.19% เกาหลีวอน (KRW) อ่อนค่า 6.81% ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) อ่อนค่า 7.04% และฮ่องกง(HKD) อ่อนค่า 3.2% เป็นต้น

 

ท่องเที่ยววูบ 1.8 แสนล.

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการประเมินผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ภายใต้สมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาจำนวนเท่าเดิม และใช้จ่ายเท่าเดิม จะมีผลกระทบทางตรงต่อรายรับจากการท่องเที่ยวที่หายไปจำนวนราว 1.82 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ไทยไปเที่ยวต่างประเทศจะถูกลง เช่น ญี่ปุ่น ถูกลง 4.4% โดยประเมินอานิสงส์เที่ยวต่างประเทศจะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 3 หมื่นล้านบาท

 

บาทแข็งกระทบทัวร์จีน

ปัจจุบันค่าเงินบาทเมื่อเทียบค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 11.5% ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายสูงถึง 6.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 30% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดอาจใช้จ่ายน้อยลงและเข้ามาน้อยลง เพราะต้องใช้เงินที่แพงขึ้น กระทบต่อรายได้ที่จะเข้ามาแน่นอน ซึ่งนอกจากค่าเงินของเกาหลีใต้เมื่อเทียบกับเงินบาทก็อ่อนค่าลง 10% เช่นเดียวกับออสเตรเลียที่ค่าเงินเทียบกับไทยจะแพงขึ้นถึง 13%

อย่างไรก็ดี หากดูในเชิงรายได้รับจากต่างประเทศ จะเห็นว่าอันดับที่ 2 จะมาจากกลุ่มอาเซียนที่มีมูลค่าสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 22% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นประเทศมาเลเซียที่ค่าเงินริงกิตเทียบเงินบาทจะแพงขึ้น 9.7% และสิงคโปร์แพงขึ้น 6.7% โดยอันดับที่ 3 จะเป็นกลุ่มยุโรป มีสัดส่วนประมาณ 17% สร้างรายได้ให้ไทย 3.6 แสนล้านบาท โดยเทียบค่าเงินยูโรจะแพงขึ้น 9.3%

“จากข้อมูลล่าสุดนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มชะลอลงบ้างแล้ว ซึ่งเงินบาทแข็งก็มีส่วนทำ
ให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจไม่มา หรือมาก็ใช้จ่ายน้อยลง กระทบรายได้ที่อาจจะได้น้อยลง ส่วนไทยไปเที่ยวนอก ค่าเงินถูกลง เราสามารถจิ้มได้เลยว่าอยากไปเที่ยวไหน การใช้จ่ายก็น่าจะเยอะขึ้น” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,482 วันที่ 27 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เศรษฐีแห่ตุนเงินนอก  ส่งลูกเรียน-เที่ยวต่างประเทศ