แรงส่งจากหุ้นที่ถือจากการนำหลักทรัพย์เข้าเทรด ทำให้เศรษฐีหุ้นหน้าใหม่หลายรายเข้ามาแซงโค้ง หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” จัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2562 โดยใช้ราคาปิด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2562 เรียงลำดับดังนี้...
อันดับ 1
สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี หรือ “เสี่ยกลาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยเป็นครั้งแรกจากการนำหุ้น GULF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 มีมูลค่าระดมทุนสูงถึง 23,998.50 ล้านบาท โดยในรอบปี 2562 หุ้น GULF ปรับตัวเพิ่มแตะ 161.50 บาท (ณ 20 ธ.ค. 62) เพิ่มขึ้น 80 บาทหรือเพิ่ม 98.16% จากสิ้นปี 2561 (28 ธ.ค. 61) ที่อยู่ระดับ 81.50 บาท
ส่งผลให้นายสารัชถ์ ที่ถือหุ้น GULF จำนวน 755,999,994 หุ้น สัดส่วน 35.44% มีมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 122,094 ล้านบาท มั่งคั่งเพิ่ม 60,480 ล้านบาทหรือเพิ่ม 98.16% จากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ 61,614 ล้านบาท
อันดับ 2
นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
“หมอเสริฐ” เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ถือหุ้นบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) โดยถือครองหุ้นมูลค่า 68,419 ล้านบาท รวยน้อยลงจากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 74,691 ล้านบาท จำนวน 6,272 ล้านบาท หรือลดลง 8.40% ส่วนหนึ่งเนื่องจากหมอเสริฐลดพอร์ตหุ้นที่ถือใน BDMS จากปีที่แล้วที่ถือ 18.47% ปีนี้เหลือ16.66% ส่วน บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) คงถือ 10.61% บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) ถือ 1.37% ขณะที่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ปี 2561 ถือ 1.21% ปัจจุบันไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหุ้น ทั้งนี้หมอเสริฐ เคยครองแชมป์เศรษฐีหุ้นนานติดต่อถึง 6 ปี (ปี 2556-2561)
อันดับ 3
นิติ โอสถานุเคราะห์
นักลงทุนรายใหญ่ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ถือครองหุ้นมูลค่า 48,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,498 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10.27% จากสิ้นปี 2561 ที่มีมูลค่าถือครอง 43,796 ล้านบาท โดยมาจากพอร์ตหุ้นที่ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง 10 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL), บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI), บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA), บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท (SNP), บมจ. อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) (IRC ), บมจ. โอเชียนกลาส (OGC) และ บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED)
ส่วนหุ้นบมจ.โอสถสภา (OSP) ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ปัจจุบันนายนิติเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 สัดส่วน 16.28% ลดลงจากปีที่แล้วที่ถือสัดส่วน 20.78% โดยราคาหุ้น OSP ได้ปรับขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 66.33% ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 40.75 บาท
อันดับ 4
ดาวนภา เพชรอำไพ
กรรมการผู้จัดการ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และผู้ถือหุ้นอันดับ 1 MTC สัดส่วน 33.96% มีมูลค่าหุ้นที่ถือ 45,000 ล้านบาท รวยขึ้น 9,720 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากราคาหุ้นในรอบปีปรับเพิ่ม 27.55%
อันดับ 5
ชูชาติ เพ็ชรอำไพ
ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 44,696 ล้านบาท รวยขึ้น 9,409 ล้านบาท หรือ 26.66% โดยหุ้น ที่ชูชาติถือประกอบด้วย MTC ถือ 33.49%, บมจ.ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ (TACC) 0.53% , บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) 4.38%, บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) 1.28%, บมจ.โซลาร์ตรอน(SOLAR) 5.52%0, บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) 0.73% และ บมจ. เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท (FN) 1.26%
อันดับ 6
คีรี กาญจนพาสน์
“คีรี” ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ถือครองหุ้นปี 2562 มูลค่ารวม 42,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,590 ล้านบาทหรือ 46.81% จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าถือ 29,034 ล้านบาท มาจากหุ้นที่ถือใน BTS สัดส่วน 24.68%, บมจ.วีจีไอ (VGI) 0.55% และ กอง ทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) สัดส่วน 1.71%
อันดับ 7
วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
นายวนรัชต์ กรรมการกลุ่มบริษัททีโอเอฯ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA มีมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 39,763 ล้านบาท รวยเพิ่ม 32,958 ล้านบาท หรือเพิ่ม 484.35% จากการเข้าลงทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Backdoor Listing) ใน บมจ.สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวนรัชต์เป็นผู้ถือ หุ้นอันดับ 1 ใน STARK สัดส่วน 69.29% และถือหุ้นใน TOA สัดส่วน 9%
อันดับ 8
สมโภชน์ อาหุนัย
เจ้าของบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายนํ้ามันไบโอดีเซล และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 37,921 ล้านบาท (ถือ EA 23.50% และในบมจ. อีเทอเนิล เอนเนอยี หรือ EE สัดส่วน 0.92%) เพิ่มขึ้น 745 ล้านบาท หรือ 2.00% จากสิ้นปีที่แล้วที่ถือครอง 37,176 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะราคาหุ้น EA ในรอบปี 2562 ปรับเพิ่มเพียง 0.75 บาท หรือ 1.76% ปิดที่ 43.25 บาท
อันดับ 9
อนันต์ อัศวโภคิน
เจ้าของบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 27,897 ล้านบาท ลดลง 428 ล้านบาท หรือ ลดลง 1.51% ประกอบด้วยหุ้นบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 23.93% มูลค่า 27,885 ล้านบาท และ บมจ.แมนดาริน โฮเต็ล (MANRIN) 1.36% มูลค่า 12.00 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่นายอนันต์ถือลดลงเป็นผลจากราคาหุ้น LH รอบปีปรับลดลง 0.15 บาทหรือลดลง 1.52% อยู่ระดับ 9.75 บาท ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2562
อันดับ 10
พิชญ์ โพธารามิก
เจ้าของบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) มีมูลค่าหุ้นที่ถือรวม 25,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,144 ล้านบาท หรือ 9.06% จากปีที่แล้วที่ถือครองมูลค่า 23,665 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้น JAS พิชญ์ถือ 56.37% มูลค่า 23,243 ล้านบาท และหุ้น บมจ.โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO ถือ 64.29% มูลค่า 2,566 ล้านบาท
เจ้าสัวเจริญ+ภรรยา
ปีแรกมั่งคั่ง9.8หมื่นล้าน
ขณะที่เจ้าสัวนายเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ก้าวเข้ามาอยู่ในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยเป็นครั้งแรก มีมูลค่าหุ้นที่ถือรวม 54,060 ล้านบาท และ 44,698 ล้านบาท ตามลำดับ จากการที่รอบปี 2562 ได้นำ 2 บมจ.เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ
1. บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) โฮลดิ้งคัมปะนีที่ถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “ทีซีซี กรุ๊ป” เข้าเทรดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ราคาเสนอขายไอพีโอหุ้นละ 6.00 บาท มูลค่าระดมทุน ณ ราคา IPO 185,742 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย เจ้าสัวเจริญถือหุ้น AWC สัดส่วน 25.12% ส่วนคุณหญิงวรรณาถือ สัดส่วน 19.77% มีมูลค่าถือครอง 43,940 ล้านบาท และ 34,578 ล้านบาทตามลำดับ จาก ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2562 AWC ปิดที่ราคา 5.65 บาท ลดลง 0.35 บาท หรือลบ 5.83% จากราคาไอพีโอที่ 6 บาท
2.การนำบมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) บริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มสิริวัฒนภักดีที่ลงทุนในธุรกิจประกันอาคเนย์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณาถือหุ้น SEG เป็นอันดับ 1 เท่ากัน รายละจำนวน 281,103,971 หุ้น สัดส่วน 37.38% มูลค่าถือครองรายละ 10,120 ล้านบาท
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562-1มกราคม 2563