แห่ลงทุนทอง-บอนด์ หนีเสี่ยงสูง

09 ม.ค. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2563 | 11:09 น.

กูรูชี้ 2 ปัจจัย“หนุน”ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทั้งสงครามทางการค้าสหรัฐฯ และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง คาดทั้งปี ราคาทองพุุ่ง 15% แตะ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เตือนระยะสั้นยังผันผวน  นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังสูง เหตุตลาดผิดปกติ ต้องเข้าออกเร็ว ด้านตลาดตราสารหนี้ เชื่อจะมีเงินทุนไหลเข้าลงทุน หนีความเสี่ยงที่สูงขึ้น

       

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านผลักดันให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,588.05 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทันทีที่ตลาดเอเชียเปิดซื้อขายเมื่อวันที่ 6 มกราคม  2563 หลังเหตุการณ์สังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญระดับต้นๆ ของอิหร่าน และสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมายอมรับว่าเป็นผู้สั่งการและผู้นำอิหร่านประกาศล้างแค้น พร้อมชักธงแดงเหนือยอดสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อและเลวร้ายลง จะเป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพให้กับราคาทองคำในระยะยาว

 

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ราคาทองคำระยะสั้นภายในเดือนนี้ มีโอกาสปรับขึ้นเหนือระดับ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยต้องประเมินสถานการณ์ในอิหร่านและสหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะยากต่อการคาดการณ์ฐานทัพของ 2 ประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องติดตามเหตุการณ์วันต่อวัน ซึ่งไม่สามารถประเมินหลายๆ วัน อย่าง 3 เดือนก็อาจจะนานไป โดยเฉพาะผู้ลงทุน

 

ในแง่ของผู้ลงทุนต้องติดตามข่าวสารวันต่อวัน และอย่าไปตื่น ราคาที่คาดการณ์ระยะยาว โดยในตลาดเวลานี้ จะมีทั้งคนซื้อและคนขายทองคำออกมา เพราะมีทั้งที่ประเมินสถานการณ์อิหร่านและสหรัฐฯ มีโอกาสขยายวง ซึ่งจริงๆ เฉพาะปัจจัยสงครามการค้า เรามองว่าปีนี้ราคาทองคำจะปรับลดลงจากปีก่อนที่ราคาหายไปเกือบ 50% แต่พอมีปัจจัยความตึงเครียดในอิหร่าน และสหรัฐฯเกิดขึ้นราคาทองคำเพิ่มขึ้นมาก ส่วนตรุษจีนปีนี้ คาดว่ากำลังซื้อมีไม่มาก เพราะสัญญาณจากเทศกาลปีใหม่ก็ไม่ดี

 

นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุกฯ กล่าวว่า ราคาทองคำระยะสั้นช่วงเริ่มต้นเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ปรับเพิ่มขึ้น 3-4% นั้นถือว่า เป็นราคาปรับเพิ่มสูงมาก แต่ด้วยข้อมูลที่เข้ามา แนวโน้มราคาทองยังปรับขึ้นต่อ อย่างน้อย 3 เดือนแรก น่าจะเห็นที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทั้งปีนี้มีโอกาสเห็นราคาทองในรูปดอลลาร์จะปรับเพิ่มขึ้น 15% แตะ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคำนวณจากราคาที่ปรับเพิ่ม 220 ดอลลาร์ต่อออนซ์ บวกราคาทองคำ 1,510 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อสิ้นปี 2562 โดยที่ผ่านมา ในรอบปี 2562 ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ราคาทองคำปรับขึ้นไป 21% จากนั้นทยอยลดลง โดยรวมสิ้นปีราคาปรับเพิ่ม 15-16%

 

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาทองคำในปีนี้ หลักๆ คือ ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เพราะตะวันออกกลางเป็นแหล่งค้าทองคำอันดับ 2 ของโลก ทำให้ทองคำเป็น Safe Haven ส่วนราคาทองคำใน 3 เดือนข้างหน้าขึ้นอยู่กับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง จะเรื้อรังระยะยาวหรือขยายความรุนแรงหรือไม่ เพราะเป็น 2 ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอาวุธนิวเคลียร์ จึงยากต่อการคาดการณ์ และยังมองว่าสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่จบในเฟสแรก ขณะที่ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า

 

นักลงทุนจำเป็นต้องเข้า-ออกด้วยความระมัดระวัง ทำความเข้าใจ โดยมีความรู้ เพราะตลาดอยู่ในสภาวะผิดปกติ มีความเสี่ยงสูง ส่วนผู้ลงทุนที่ยังขาดทุนในตลาดโกลด์ฟิวเจอร์ต้องพยายามหยุดขาดทุนให้ได้ก่อนหรือปิดสถานะ Short ถามว่า ราคาทองคำจะปรับเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความตึงเครียดจะขยายวงรุนแรงหรือกินเวลาแค่ไหน แต่ช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ตึงเครียดทั่วโลกตื่นตัวมาก เห็นได้จากมูลค่าซื้อขายหนาแน่นและราคากระชากแรง ซึ่งไม่เคยกระชากแบบนี้มาก่อนในรอบ 10ปี

 

 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ยังประเมินไม่ได้ว่า จะมีผลต่อตลาดตราสารหนี้อย่างไร โดยต้องขึ้นกับตลาดโลกเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาการความรุนแรงของเหตุการณ์ว่า จะลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน อาจจะคาดเดาได้ยาก เพราะในช่วงปลายปีเป็นอีกอย่าง แต่เปิดต้นปีไม่ได้คาดว่าจะมีการเปิดสงครามเกิดขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังมีความเสี่ยงและไม่ดีขึ้น มีโอกาสที่เงินจะไหลเข้าสู่พันธบัตรมากขึ้นจากการที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยยังเป็นประเทศที่ปลอดภัยในการลงทุน เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง และมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูง มีความเป็นไปได้ว่า จะมีเงินไหลเข้ามาในภาวะที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น ขณะที่ในปีนี้การลงทุนในตราสารหนี้ยังคงทรงตัวจากปีที่แล้ว ไม่ขยับขึ้นมาก จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า โดยคาดว่า ปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ย หรืออาจจะลดลงอีก 1 ครั้ง ต้องรอดูทิศทางเศรษฐกิจ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลมากนัก

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563