นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยปี 2563 ที่ระดับ 2.5% ต่อปี โดยมีความกังวลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แม้จะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน แต่จากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน โดยเบื้องต้นคาดว่า สินเชื่อทุกกลุ่มจะเติบโต 5-7% ตํ่ากว่าปีก่อนที่่โต 8.7% โดยมาจากสินเชื่อรายใหญ่ 4-6% สินเชื่อ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 5-7% รายย่อย 5-7% แบ่งเป็นสินเชื่อรถยนต์ 6-8% สินเชื่อบ้าน 4-6% และสินเชื่อบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลอีก 4-6%
“เราตั้งเป้าสินเชื่อก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และบนสมมติฐานจีดีพีโต 2.5% แต่จะทบทวนว่า Segment ไหนจะโดนผลกระทบมากน้อยแค่ไหนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”
ส่วนสินเชื่อออนไลน์ตามนโยบาย Think Digital First นั้นมีแนวโน้มทำตลาดเชิงรุกมากขึ้นจากปีก่อน โดยสินเชื่อออนไลน์ของกรุ๊ป ซึ่งรวมธนาคารกรุงศรีฯ กรุงศรีออโต้ และกรุงศรีคอนซูม เมอร์ ในช่วงเริ่มต้นมีสัดส่วนเพียง 1-3% ของพอร์ตสินเชื่อรวม 1.8 ล้านล้านบาทและคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารให้บริการสินเชื่อออนไลน์ผ่านทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่ม
ธุรกิจ ซึ่งสินเชื่อออนไลน์ยังเป็นจำนวนยอดสินเชื่อที่จะปล่อยแต่ไม่มียอดสินเชื่อคงค้าง เพราะอัตราหมุนรอบไม่เท่ากัน
ด้านผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับเกณฑ์คำนวณอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนั้นเชื่อว่า หลายธนาคารอยู่ในช่วงประเมินผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่ธนาคารได้ยกเว้นให้ลูกค้าอยู่แล้ว โดยธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด หรือราว 30% หากสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีนี้ติดลบ 3 ถึง 3% ก็ยังอยู่ในสัดส่วนเดิม ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่มีความสมดุล 50 ต่อ 50 ทำให้ธนาคารรับผลกระทบไม่มากเหมือนธนาคารอื่น
“สิ่งที่ธนาคารเป็นห่วงมากกว่า คือผลกระทบจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งน่าจะมีมาตรการเพิ่มออกมา ซึ่งธนาคารต้องปรับตัวและพยายามหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาชดเชยในอนาคต ขณะที่เรามีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.4-3.6% ซึ่งยอมรับว่าทั้งดิจิทัล ดิสรัปต์กับมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อดูแลผู้บริโภค(Regulatory) จะทำให้ NIM ปรับลดลง”
ในส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้คาดว่า จะอยู่ที่ระดับตํ่ากว่า 50% สะท้อนถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการบริหารต้นทุนอย่างเข้มงวดและมั่นใจ จะรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับตํ่ากว่า 2.5% โดยมีกระบวนการดำเนินงานอย่างระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี แม้จะมีความกดดันอีกในปีนี้
หน้า 13 -14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563