หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระยะที่ 2 โดยมีมาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้ายการจ่ายเงินรายละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน เพื่อติดตามความคืบหน้าของมาตรการต่างๆที่ดำเนินการไปแล้ว พร้อมเตรียมที่จะออกมาตรการระยะ 3 ซึ่งจะเป็นการเตรียมเงินงบประมาณ เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาท้องถิ่น(Local Economy)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดผลกระทบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเร่งจัดทำมาตรการระยะ 3 เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 จะกระทบหนักกว่าต้มยำกุ้ง โดยได้หารือกันว่ามาตรการชุดใหญ่ที่ออกมาต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ให้ถือเอาวิกฤติครั้งนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น เพราะจุดอ่อนสำคัญของไทยคือ พึ่งเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ฉะนั้นหากสามารถทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่น จังหวัด ตำบล และภูมิภาคมีพลังความสามารถในการผลิตสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม สามารถรวมศูนย์ทุกภาคส่วนในการ
กระจายสินค้าได้
“ได้มอบนโยบายให้กระทรวงการคลังและทีมงานที่เกี่ยวข้องเตรียมออกมาตรการชุดที่ 3 เพราะขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้กลับภูมิลำเนา โดยไม่มีงานทำ สิ่งที่มีแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือชุมชนให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้ เพื่อให้สามารถประคับประคองเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าได้ ขณะที่สภาพภายนอกค่อนข้างหยุดนิ่ง”
ส่วนงบประมาณที่จะใช้ยังระบุตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบก้อนใหญ่พอสมควร ส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงิน ขึ้นกับความจำเป็น ระยะเวลา ถ้าต้องทำก็สามารถทำได้เลย ทุกคนเข้าใจ ไม่น่าจะมีอะไร เพราะทางกระทรวงการคลังเตรียมตัวเรื่องนี้มาเป็นเดือน วงเงินอาจจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะฐานะการคลังแข็งแกร่ง ส่วนการเกลี่ยงบประมาณปี 2563 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ
สำหรับแนวทางของการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบนี้ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงถือโอกาสใช้วิกฤตินี้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นด้วย โดยเสนอกระทรวงการคลังและกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ ซึ่งเงินหรืองบประมาณต้องกระจายไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่นำไปใช้ในกิจกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในท้องถิ่นของตัวเองให้มีการผลิต ให้มีการจ้างงานและตลาด โดยจะมีกระทรวงเกษตรฯ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปมีบทบาท และธนาคารออมสินด้วย นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่สถานีบริการนํ้ามันของปตท.เป็นสถานที่กระจายสินค้าของท้องถิ่นทั่วประเทศ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ใหญ่ครั้งนี้คือ ต้องการดูแลขีดความสามารถ เศรษฐกิจในพื้นที่ เหตุผล เนื่องจากในส่วนของปัญหาเฉพาะหน้า คือ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้น ทางการได้ทยอยออกมาตรการดูแล ไม่ว่าเป็นเงินที่ส่งตรงกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันหากจัดงบประมาณดังกล่าวจะต้องนำไปใช้ในส่วนการดูแลเศรษฐกิจ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ซึ่งเศรษฐกิจไทยต้องอยู่ในความเข้มแข็งเพียงพอที่จะเดินหน้าไป ดังนั้นจำนวนเงินจะสอดรับกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรียํ้าให้เป็นการกู้เงินมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์และเพื่อให้ประชาชนได้เห็นความชัดเจนด้วย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563