"พันธบัตรรัฐบาล" รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" เทียบผลตอบแทน เงินฝากปลอดภาษี

11 พ.ค. 2563 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2563 | 09:23 น.

เช็ก ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์รุ่นพิเศษ "เราไม่ทิ้งกัน" เทียบดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี ของธนาคารพาณิชย์ ใครจ่ายสูงกว่ากัน

แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ทำให้ผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวที่จ่ายดอกเบี้ย"คงที่" กลับมาได้รับความสนใจจากผู้ออมอีกครั้ง ล่าสุดกระทรวงการคลัง เตรียมจะออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน"  วงเงิน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่น ดังนี้

 

รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1 ร้อยละ 2.00 ปีที่ 2-3 ร้อยละ 2.25 ปีที่ 4 ร้อยละ 2.50 ปีที่ 5 ร้อยละ 3.00    

รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยต่อปี ปีที่ 1-3 ร้อยละ 2.50 ปีที่ 4-8 ร้อยละ 3.00 ปีที่ 9 ร้อยละ 3.50 ปีที่ 10 ร้อยละ 4.00   จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือวันที่ 14 พ.ค.และวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีจนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน

 

โดยการเปิดขายแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 วันที่ 14 -20 พ.ค. 2563  ขายให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ( ผู้ที่เกิดก่อนหรือเกิดภายในปี 2503 ) ช่วงที่ 2 วันที่  21- 27พ.ค. 2563 ขายให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เหลือจากช่วงแรก  และช่วง 3 วันที่ 28 พ.ค.- 10 มิ.ย. 2563 ขายให้กับประชาชนทั่วไปรวมผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ"ผู้มีสิทธิ์ซื้อ " (บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย  สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลรัฐ และ นิติบุคคลที่ไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไร ) 

 

จุดเด่น พันธบัตรออมทรัพย์ "เราไม่ทิ้งกัน"

จุดเด่นของพันธบัตรออมทรัพย์ "เราไม่ทิ้งกัน" นอกจากความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หายเนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ยังได้รับผลตอบแทนดีกว่าฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ ดอกเบี้ย เฉลี่ยอยู่ที่ 0.3-1.2% ต่อปี  และโดยเฉพาะพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นเราไม่ทิ้งกัน อายุ 5 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.40% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.00%   สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี ที่เฉลี่ยอยู่  2.08% และ 2.54% ต่อปีตามลำดับ

 

อีกทั้งด้วยเงื่อนไขที่เปิดให้ซื้อต่อรายขั้นต่ำที่ 1,000 บาท และสูงสุด 2 ล้านบาทต่อธนาคาร จากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนในการจำหน่าย 4 แห่งคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ดังนั้นต่อรายจึงสามารถซื้อได้สูงสุดถึง 8 ล้านบาท

 

\"พันธบัตรรัฐบาล\" รุ่น \"เราไม่ทิ้งกัน\" เทียบผลตอบแทน เงินฝากปลอดภาษี

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าความต้องการพันธบัตรในตลาดยังคงมีอยู่สูง  และเชื่อว่าพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน”จะได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก  ซึ่งหากความต้องการยังมีอยู่สูงก็อาจจะออกพันธบัตรในซีรี่ส์ที่ 2 ตามมา ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินของรัฐ  โดยสบน.จะบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ดีจากการตั้งข้อสังเกตุของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าความต้องการของพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ออกมาในแต่ละรุ่น จะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อค่อนข้างสูง เพราะนอกจาก"ดอกเบี้ย"ที่สูงโดนใจ รัฐบาลยังมุ่งเป้าหมายคือกลุ่มผู้เกษียณอายุ ที่เป็นกลุ่มเงินเย็น จึงมักจำหน่ายหมดก่อนสิ้นสุดการขายในช่วงแรก  ดังจะเห็นการออกในรุ่น"สุขกันเถอะเรา" หรือในปีงบประมาณ 2559-2562  ทำให้ไม่ตกถึงมือประชาชนทั่วไป

 

ประกอบกับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ผู้ที่เคยลงทุนใน"หุ้นกู้" หนีความเสี่ยง จากการที่บริษัทผู้ออก ประสบปัญหาสภาพคล่อง เบี้ยวการชำระหนี้ จึงหันมาลงทุนใน พันธบัตรออมทรัพย์และฝากธนาคารแทนมากขึ้น

กระนั้นก็ดี การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ก็ใช่จะไม่มีความเสี่ยงเลย ความเสี่ยงใน 3 ด้าน คือ

1.ด้านอัตราดอกเบี้ย  ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเสียโอกาสไม่ได้รับการปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม

2.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง พันธบัตรออมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ต้องถือให้ครบตามสัญญาจึงจะได้เงินคืน

3. ความเสี่ยงด้านสภาวะเงินเฟ้อ ในกรณีที่ค่าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ แต่ดอกเบี้ยจากพันธบัตรออมทรัพย์ยังเท่าเดิม ก็จะไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

เทียบดอกเบี้ย"เงินฝากปลอดภาษี" ใครจูงใจกว่า

ดังนั้นนักลงทุนที่พลาดจากการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน"  ยังมีทางเลือกออมอื่น อาทิเงินฝากประจำปลอดภาษี หากเทียบผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นเราไม่ทิ้งกัน อายุ 5 ปี  ให้ดอกเบี้ยคงที่  2.4% ต่อปี แต่หักภาษี  15%ของรายได้ดอกเบี้ยแล้วจะเหลือ 2.04%

 

เช่นเดียวกับอายุ 10 ปี ดอกเบี้ยคงที่  3.00% ต่อปี หลังหักภาษี 15% แล้วผลตอบแทนจะเหลือ  2.55%

หากเทียบเงินฝากปลอดภาษี หลายแห่งเวลานี้เสนอดอกเบี้ยที่สูงโดนใจไม่แพ้กัน อาทิ  ธนาคารไทยเครดิต ฝากปลอดภาษี 24 เดือนและ 36 เดือน จ่ายดอกเบี้ยคงที่  2.60%ต่อปี และ 2.85% ต่อปี ตามลำดับ ,ธนาคารไอซีบีซี(ไทย) ดอกเบี้ยคงที่  2.55% ต่อปี และ 2.70 % ต่อปี สำหรับเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือนและ 36 เดือนตามลำดับ ,ธ.ก.ส ฝากปลอดภาษี 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่  2.50% ต่อปี  (ตารางประกอบ)

 

\"พันธบัตรรัฐบาล\" รุ่น \"เราไม่ทิ้งกัน\" เทียบผลตอบแทน เงินฝากปลอดภาษี

 

โดยสรุป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี เฉลี่ยปัจจุบันจะอยู่ที่ 1.50-2.85% ต่อปี 

อย่างไรก็ดีข้อเสียของเงินฝากปลอดภาษี คือผู้ฝากจะเปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น  โดยเป็นการฝากเท่ากันทุกเดือน  ขั้นต่ำ - สูงสุด สำหรับประเภท 24 เดือน คือ 1,000- 25,000 บาทต่อเดือน  

กรณี  36 เดือน อยู่ที่ 1,000 - 16,500 บาท  และกรณีฝาก 48 เดือน อยู่ที่ 1,000 - 12,500 บาท หรือรวมสูงสุดต้องไม่เกิน  6 แสนบาท  และขาดการฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการฝาก หากขาดตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ตามประกาศของธนาคาร และต้องเสียภาษี 15% ของรายได้ดอกเบี้ย 

 

นอกจากนี้ในกรณีธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง ๆ แต่มีจำนวนสาขาน้อย อาจไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับผลตอบแทนดอกเบี้ยในธนาคารที่ให้น้อยกว่า และบางธนาคารอาจไม่สามารถผูกติดบัญชีออมทรัพย์เพื่อหักนำส่งเข้าบัญชีเงินฝากปลอดภาษีในแต่ละเดือนได้ ซึ่งผู้ฝากเองต้องใช้ดุลพินิจเลือกการออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้ก่อนซื้อ พันธบัตรรัฐบาล รุ่น “เราไม่ทิ้งกัน”

"พันธบัตรรัฐบาล" รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" เทียบผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝาก

คลังออก​ พันธบัตรออมทรัพย์ “เราไม่ทิ้งกัน” 50,000 ล้าน