ในงานเปิดตัวโครงการเศรษฐกิจสร้างไทย และโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากไตรมาสที่ 1 ที่วิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งยอมรับว่าในเดือนก.ค.นี้ จะมีธุรกิจจำนวนมากปิดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกได้รับผลกระทบ การท่องเที่ยวยังไม่เปิดให้สร้างรายได้
ดังนั้นธ.ก.ส.จึงต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือภาคแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานกลับสู่ภาคชนบทจำนวนกว่า 2 ล้านคน ให้ทำการเกษตรได้อย่างเข้มแข็งให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพ หาช่องทางการตลาด และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้ยั่งยืนให้ได้ โดยหลักๆ จะต้องมีหัวขบวนเกษตรกร มารวมตัวกันเพื่อผลิตสินค้าเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10,000-20,000 ราย
ขณะเดียวกันธ.ก.ส.จะต้องช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ให้กับการรวมกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้แรงงานที่กลับเข้าสู่ภาคการเกษตรได้มีแหล่งทุนในการพัฒนาภาคการเกษตร ให้เลี้ยงชีพต่อไปให้ได้
"ทุกครั้งที่มีวิกฤติ กระทรวงการคลังคือหลักที่ทุกคนต้องยึดเหนี่ยว ถ้ากระทรวงการคลังอ่อนแอ จะมีปัญหา ต้องยอมรับคำวิจารณ์ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ต้องกลืนเรื่องนี้ลงไปในกระเพาะและเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้หลังไตรมาสที่ 1 ที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ไปแล้วต้องทำอย่างไร"นายสมคิด กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุกวันนี้วิกฤตโควิด-19 ยังคงมีอยู่ กระทรวงการคลัง จึงต้องการให้ธ.ก.ส.เข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด เพื่อให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้เกษตรกรจะแข็งแกร่งมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนงบประมาณและสินเชื่ออัตรดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว
ขณะเดียวกันธ.ก.ส.ยังได้รับอนุมัติให้ออกพันธบัตรสีเขียว(Green Bond) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนให้ธ.ก.ส.สามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัมนาภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า จากโครงการดังกล่าว ธ.ก.ส.ได้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐทั้งสิ้น 54,395 ล้านบาท และมีสินเชื่อสนับสนุนโครงการอีกประมาณ 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินงบประมาณจำนวน 10,720 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว
โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) วงเงินงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือนเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกิน 50% ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีสินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท
โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) วงเงินงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกิน 50% ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดยมีสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท