ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวม 35 แห่ง) ได้มีการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากไว้ที่ 5 ล้านบาท 1 ชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ความหมายคือ หากธนาคารพาณิชย์ล้ม หรือไม่มีความสามารถในการคืนเงินฝากให้กับผู้ฝากได้ เพราะขาดสภาพคล่องใดๆ ก็ตาม ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเข้ามาทำหน้าที่ในการจ่ายเงินฝากดังกล่าวแทน แต่ไม่เกินธนาคารละ 5 ล้านบาท
ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ฝากมีเงินฝากอยู่ใน ธนาคาร A จำนวน 10 ล้านบาท และมีเงินฝากในธนาคาร B 3 ล้านบาท หากธนาคารเกิดปัญหาขึ้น ผู้ฝากจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากในธนาคาร A เพียง 5 ล้านบาท และจากธนาคาร B อีก 3 ล้านบาท ส่วนเงินที่ยังไม่ได้รับคืนในธนาคาร A อีก 5 ล้านบาทนั้น จะต้องรอชำระบัญชีจากสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ
อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 วงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท 1 ชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินเท่านั้น โดยนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ระบุว่า วงเงินที่ สคฝ.คุ้มครองในปีหน้าที่จะลดลงเหลือ 1 ล้านบาทนั้น ยังถือว่าสูงกว่าอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบอาเซียนด้วยกัน ดังนั้นการลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท เหมาะสมแล้ว
ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีสูงถึง 98% ของผู้ฝากทั้งหมด 80 ล้านบัญชี ฉะนั้นผู้ฝากทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล เพราะจะได้รับเงินคืนหากธนาคารมีปัญหา โดย สคฝ.มีเงินกองทุนอยู่ที่ 129,969.13 ล้านบาท เพียงพอต่อการดูแลเงินฝากของผู้ฝากแน่นอน