หุ้นส่งออก ไม่สะดุ้ง! ตัดGSP

06 พ.ย. 2563 | 08:15 น.

สหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทยรอบสอง เขย่าหุ้นส่งออกเล็กน้อย โบรกเผยไม่กระทบทั้งเศรษฐกิจและแนวโน้มส่งออกปี 64 เหตุไทยใช้สิทธิไม่มาก ห่วงผู้ประกอบการรับภาระเสียภาษีเพิ่ม  

เกิดแรงกดดันอีกครั้งกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มส่งออก หลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)กับไทย เป็นครั้งที่ 2 มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้าไทย 231 รายเช่น ชิ้นส่วนรถยนต์, สินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท, เครื่องครัวอะลูมิเนียม, หอยบางชนิด, มะม่วง, ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และอาหารอบแห้ง มูลค่าประมาณ 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯเคยตัดสิทธิ GSP  สินค้าไทยรอบแรก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ประมาณ 573 สินค้า อาทิ อาหารสำเร็จรูป, เครื่องใช้ไฟฟ้า,เซรามิก, อาหารทะเล, ผัก ผลไม้, เมล็ดพันธุ์, นํ้าเชื่อม นํ้าตาล, ซอสถั่วเหลือง, นํ้าผัก นํ้าผลไม้, ทอง และเหล็ก มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในขณะนั้น ราคาหุ้นกลุ่มส่งออก วันที่เริ่มมีการประกาศ ส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยราคาหุ้นวันที่ 25-28 ตุลาคม 2562 บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทร นิคส์ จำกัด (มหาชน) (HANA) ลดลง 4.71%, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) ลดลง 4.08% และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) ลดลง 3.57% 

หุ้นส่งออก ไม่สะดุ้ง! ตัดGSP

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า กรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิ GSP กับไทยไม่กระทบทั้งเศรษฐกิจและแนวโน้มภาคส่งออกในปี 2564 มากนัก เพราะไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกสินค้าไปสหรัฐประมาณปีละ 4,000-4,400 ล้านบาท หรือประมาณ 15% ของยอดส่งออกสินค้า รวม GSP และไม่ใช้สิทธิ GSP ไปสหรัฐ โดยปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จะกระทบผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีเพิ่ม 4-5% 

 

หุ้นส่งออก ไม่สะดุ้ง! ตัดGSP

ขณะที่ในส่วนพื้นฐานตลาดหุ้นรวมถึงหุ้นส่งออก คาดกระทบจำกัดมาก โดยจะกระทบเฉพาะ Sentiment กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เกษตรและอาหาร จะกระทบจำกัดหรือกระทบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ GSP จากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอยู่แล้ว เช่น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT) ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ GSP สำหรับการส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐในรอบนี้ จึงยังได้สิทธิประโยชน์ตามเดิม ทำให้ผู้นำเข้าถุงมือยางจากสหรัฐไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 3% ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบผู้ส่งออกถุงมือยางจากมาเลเซีย ที่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ GSP แล้ว 

 

ขณะเดียวกัน หากสหรัฐตัดสิทธิ GSP ถุงมือยางไทยในอนาคต ประเมินว่า STGT จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะผู้นำเข้าถุงมือยางจากสหรัฐจะเสียภาษีนำเข้าประมาณ 3% ใกล้เคียงกับผู้ส่งออกถุงมือยางจากมาเลเซีย จึงยังสามารถแข่งขันได้ อีกทั้ง ปัจจุบันความต้องการใช้ถุงมือยางมีสูงมาก คาดว่า STGT สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้ โดยปัจจุบัน STGT มีสัดส่วนรายได้ส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐประมาณ 18% ของรายได้รวม 

สำหรับ TU ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ GSP อยู่แล้ว จึงได้รับผลกระทบจำกัด ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการ Lock down เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จะส่งผลบวกต่อแนวโน้มยอดขายอาหารกระป๋องที่มีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม ให้เพิ่มขึ้นตั้งแต่งวดไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นไป ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานของ TU เติบโตต่อในปี 2564 ด้านกลุ่มยานยนต์ กระทบจำกัดหรือกระทบน้อยมาก เพราะบางส่วนไม่ได้มีการส่งออกไปสหรัฐ หรือหากมีชิ้นส่วนบางประเภทที่ส่งออกไปสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้สิทธิ GSP อยู่แล้ว

ด้านบล.เคทีบี (ประเทศ ไทย) จำกัดระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อย เพราะการถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะถูกห้ามส่งออกไปสหรัฐ ยังส่งออกได้ปกติ แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติคือ ประมาณ 3-4% และผลกระทบก็ไม่ใช่ 604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่สหรัฐนำเข้าสินค้าไทย 147 รายการ แต่ที่กระทบจริงคือ ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 600 ล้านบาท และสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน แม้ภาษีจะสูงขึ้น ก็ไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก อีกทั้งผู้นำเข้าสหรัฐยังต้องการสินค้าไทยสูง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"จุรินทร์"ลั่นไม่กังวล สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP ไทย

“พาณิชย์”เตรียมหารือสหรัฐฯ  แก้ปัญหาถูกตัด GSP

เปิด 10 สินค้าไทย อ่วม หลังสหรัฐ ตัดสิทธิ GSP

เปิดเบื้องลึก สหรัฐ ตัด GSP สินค้าไทย เหตุห้ามนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดง

 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563