คนที่เป็น VI นั้น ผมคิดว่าน่าจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ เขาเป็น “Survivor” หรือคนที่สามารถ “เอาตัวรอด” ได้ใน “สถานการณ์ที่ยากลำบาก”
อย่างเช่นในเรื่องของการลงทุนในปัจจุบันนั้น ถ้าใครที่พอร์ตลงทุนโดยรวมขาดทุนหรือเสียหายไม่เกิน 20-25% และไม่ได้ทำให้ “ชีวิต” เปลี่ยนแปลงไปมาก ก็ต้องถือว่ายังเป็น Survivor เหตุผลก็เพราะเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในช่วงภาวะ “วิกฤติ” ตลาดหุ้นเองก็เคยตกลงมาหนักกว่า 30% ในช่วงแรก และแม้แต่ในช่วงล่าสุดก็ยังตกลงมากว่า 20% จากต้นปี อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเขาจะยังอยู่รอดได้ไปถึงสิ้นปีหรือในอนาคตข้างหน้าสำหรับวิกฤติรอบนี้ เหตุผลก็เพราะ วิกฤติรอบนี้ก็ยังไม่จบ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเองก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวและกลับทิศไปแน่นอนแล้วอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นที่ก้าวหน้ากว่าอย่างสหรัฐหรือจีนหรือตลาดหุ้นที่ด้อยกว่าอย่างตลาดหุ้นเวียตนาม
ในความคิดของผม คำว่า Survivor ในเรื่องของการลงทุนนั้น เป็นเรื่อง “ระยะยาว” ที่คน ๆ หนึ่งวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งหรือความมั่นคงทางการเงินแทบจะ “ตลอดชีวิต” โดยที่แผนของเขานั้นจะต้องประกอบไปด้วยกลยุทธ์หรือแนวทางหลัก ๆ 3 ประการอย่างที่ผมพูดเปรียบเปรยเสมอมาว่าเหมือนกับ “แก้ว 3 ประการ” หรือ “ตะเกียง 3 ดวง” ที่ประกอบไปด้วยแก้วดวงแรกคือ การหาเงินมาลงทุนซึ่งก็มักจะมาจากการทำงานและเก็บออมมาลงทุน แก้วดวงที่ 2 ก็คือ การลงทุนอย่างถูกต้องและชาญฉลาดที่จะสร้างผลตอบแทนทบต้นที่สูงต่อเนื่องยาวนาน และแก้วดวงสุดท้ายก็คือ การลงทุนด้วยระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด ทั้งสามเรื่องนั้น ถ้าทำได้ดี คือแก้วทุกดวงต่างก็สุกสว่าง คือมีเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูง และลงทุนต่อเนื่องยาวนานไปเรื่อย ๆ เราก็มักจะมีความมั่งคั่งหรืออย่างน้อยมีความมั่นคงในชีวิตทางการเงิน แต่ถ้าหากว่าแก้วทุกดวงต่างก็ “ริบหรี่” อนาคตทางการเงินก็ไม่สดใส
บทความย้อนหลัง
ลงทุนมาราธอน แบบวอเร็นบัฟเฟตต์
ในช่วงเวลาที่ยาวนานระหว่าง “การเดินทาง” หรือการสร้างและสะสมความมั่งคั่งนั้น ทุกคนต่างก็จะต้องประสบกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับความสำเร็จที่ตามมาจากความพยายามและความตั้งใจของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือ พอร์ตลงทุนของเราก็จะมีขึ้นมีลง และถ้าเราลงทุนด้วยหลักและวิธีการที่ดีมากกว่าที่แย่ มันก็มักจะค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปมากพอ เราก็มักจะเห็นถึงความสำเร็จของการลงทุน เช่น มีเงิน 1 ล้านบาทแล้ว บางคนก็อาจจะมีเงิน 10 ล้านบาทแล้ว บางคนคิดว่าตนเอง “มีอิสรภาพทางการเงินแล้ว” บางคนเป็นเศรษฐี 100 ล้านแล้ว อาจจะมีบางคนเป็นเศรษฐี 1,000 ล้านหรือมากกว่านั้น “สถานะใหม่” แบบนี้ อาจจะไม่สามารถ “ยืน” อยู่ได้ ถ้าพอร์ตถูกกระทบแรงจนเสียหายหนัก ส่วนใหญ่มาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายจนเป็นวิกฤติ และถ้ามันไม่สามารถ “ฟื้น” กลับมาได้อีกเลย นั่นก็คือ เราไม่สามารถ Survive หรือ “เอาตัวไม่รอด” ความสำเร็จที่ได้มานั้น กลายเป็น “ภาพลวงตา”
ประวัติศาสตร์ของนักลงทุนระดับเซียนของโลกที่พอจะจดจำกันได้ก็น่าจะมีหลายคน คนที่ดังที่สุดและครั้งหนึ่งในชีวิตแทบจะรวยที่สุดในโลกคนหนึ่งก็คือ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ ซึ่งในช่วงชีวิตของเขานั้น เขาล้มแล้วลุกมาหลายครั้ง ถ้าจะเรียกการล้มแล้วกลับมาได้ทุกครั้งว่าเป็น Survivor เขาก็เป็น Survivor ที่น่าทึ่งมาก เพราะแทบทุกครั้งที่ประสบกับ “วิกฤติ” นั้น เขาแทบจะ “หมดตัว” แต่เขาก็สามารถ “ระดมเงิน” มาเล่นใหม่เสมอจนเอาความมั่งคั่งกลับคืนมาได้ กลับคืนสถานะ “เซียน” หรือ “จ้าวพ่อ” ได้ทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเขาก็ “ไม่รอด” ความมั่งคั่งสูญสลายหมดและต้องฆ่าตัวตายในวาระสุดท้าย จากการศึกษาดูวิธีการลงทุนของเขาแล้ว ผมคิดว่า เขาไม่ได้วางแผนหรือกลยุทธ์รองรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายดีพอที่จะเป็น Survivor เลย ทุกการ “เดิมพัน” ของเขานั้น มักจะเป็นการ “เล่นหมดหน้าตัก” ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาทำผลตอบแทนมหาศาลและทำให้เขาอยู่ “เหนือโลก” แต่ก็มีความเสี่ยงแบบสูงสุด และนั่นก็คือ “จุดตาย” ของเขา
เซียนหุ้น “VI” แนว “ไฮเท็ค” คนหนึ่งคือ Bill Miller อดีตผู้จัดการกองทุน Legg Mason ที่โด่งดังมากเมื่อ 20-30 ปีก่อนนั้น เคยทำผลตอบแทนการลงทุนที่ดีมากจากการเป็นนักลงทุน VI ที่บุกเบิกและเน้นการลงทุนในหุ้นไฮเท็คในยุคแรก ๆ แต่เมื่อหุ้นไฮเท็คล่มสลายในช่วงปี 2000 ผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ตกต่ำลง ชื่อเสียงของเขาที่หลายคนยังเรียกว่าเป็น “นักลงทุนในตำนาน” ตกต่ำลงไปมาก ทุกวันนี้แม้ว่าเขาจะยังรวยและบริหารกองทุนอยู่ในวัย 70 ปี และเป็นเซียนบิทคอยด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับชื่อเสียงช่วงที่เขาโด่งดังที่สุดหรือเปรียบกับนักบริหารกองทุนอย่างปีเตอร์ ลินช์ ที่ครั้งหนึ่งน่าจะมีฝีมือหรือชื่อเสียงพอ ๆ กัน ก็ต้องบอกว่าห่างชั้นกันมาก พูดโดยสรุปก็คือ เขาไม่ใช่ “Survivor”
ผมยกตัวอย่างของคนที่ไม่สามารเอาตัวรอดได้ในระดับที่เป็นเซียนหรือผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักลงทุนว่า แม้แต่เซียนก็ “ตาย” ได้ ไม่ต้องพูดถึงเซียนระดับประเทศอย่างของไทย ซึ่งเท่าที่ผมเคยได้สัมผัส หลาย ๆ คนนั้น ในช่วงเวลาหนึ่งย้อนหลังไปซัก 10-20 ปี ผมเคยเห็นว่าเขาเคยทำผลงานระดับสุดยอด พอร์ตหรือความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็นเศรษฐีได้ในช่วงเวลาอันสั้น จับหุ้นตัวไหนตัวนั้นก็วิ่งติดจรวด การเพิ่มขึ้นของมูลค่าพอร์ตนั้น “Sky is not the limit” หรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัดทั้ง ๆ ที่เงินเริ่มต้นที่ใช้ในการลงทุนก็ไม่ได้มากนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์เลวร้ายในตลาดและกระทบหุ้นที่ถือ ความมั่งคั่งก็แทบจะ “หายวับ” ไปกับตา เขาไม่ใช่ “The Survivor” ชื่อเสียงในแวดวงนักลงทุนหายไปจนคนรุ่นหลัง ๆ ไม่รู้จัก
คนที่จะเป็น Survivor นั้น ผมคิดว่าเขาจะต้องคิดถึงเรื่อง “ความเสี่ยง” มากกว่าคนปกติ แน่นอนว่า คนที่ประสบความสำเร็จสูงหรือสูงมากนั้น ต่างก็เป็นคนที่ “กล้าเสี่ยง” บางคนอย่างเจสซี่ ลิเวอร์มอร์นั้น “กล้าเสี่ยงอย่างบ้าคลั่ง” ความสำเร็จนั้น เจ้าตัวก็มักจะคิดว่าเป็นเพราะความสามารถหรือฝีมือของตนเองประกอบกับความกล้าเสี่ยงในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็น “Calculated Risk” หรือ “เสี่ยงอย่างชาญฉลาด” น้อยคนจะบอกว่าเป็นเรื่องของ “โชค” ดังนั้น คนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนโดยทั่วไปจึงอาจจะไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงเท่าที่ควร และนั่นก็ทำให้ผมคิดว่าพวกเขาจำนวนมากอาจจะไม่ใช่ “The Survivor” จริง ๆ คนที่จะเป็น Survivor นั้น เมื่อสถานะหรือความมั่งคั่งถึงระดับหนึ่ง เขาก็จะพยายามรักษาสถานะนั้นไว้มากกว่าความต้องการที่จะสร้างความร่ำรวยหรือมีสถานะสูงขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนก็จะเน้นความปลอดภัยมากขึ้น เขาคิดว่าเขาจะต้อง Survive ในยามที่สถานการณ์เกิดเลวร้ายลงอย่างแรง
แนวทางลดความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็คือการ “กระจายความเสี่ยง” อย่าถือหุ้นน้อยตัวเกินไปและหุ้นตัวใหญ่ที่สุดที่ถือก็จะต้องไม่ใหญ่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต เช่น กรณีที่ผมถือว่าค่อนข้างสุดโต่งก็คือ ตัวเดียวเกิน 50% ของพอร์ต นอกจากการกระจายโดยตัวหุ้นแล้ว การกระจายตลาด เช่น ถือหุ้นต่างประเทศด้วยก็อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้ที่แม้แต่ประเทศก็เป็นความเสี่ยงที่เราเรียกว่า “Country Risk” และก็เช่นเดียวกัน การถือแต่หุ้นก็เป็นเรื่องที่อันตรายแม้ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวมากที่บอกว่าหุ้นมีความเสี่ยงน้อยถ้าถือเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปเป็นต้น ดังนั้น การถือทรัพย์สินอื่นเช่น พันธบัตรหรืออสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ควรทำ
ผมเองนั้น เนื่องจากอายุที่มากขึ้น และการที่พอร์ตโตมากพอที่จะรองรับความต้องการทุกด้านทั้งของตนเองและทายาทถึงรุ่นหลานแล้ว ความต้องการที่จะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาก ๆ ก็น้อยลงไปมาก ดังนั้น เป้าหมายสำคัญก็คือ การพยายามรักษาสิ่งที่มีอยู่ที่ได้สร้างสมมานาน สิ่งที่ผมพยายามทำเวลานี้ก็คือ ไม่พยายาม “บุก” ในด้านของการลงทุนที่ผมไม่เข้าใจดีซึ่งผมคิดว่ามีความเสี่ยงสูง พยายามลดความคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต ผมคิดว่าเวลาทองหรือทศวรรษทองของการลงทุนและของ VI นั้น มันจบลงมาอาจจะหลายปีแล้ว ตอนนี้สิ่งที่จะต้องคิดมากกว่าก็คือเราจะ “Survive” ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายต่อไปอีกนานแสนนานอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ผมจะยังคงต้องติดตามสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ และคิดถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อที่จะเอา “ตัวรอด” ตลอดไป
Posted by nivate at 8:59 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor