"กฤษฎีกา" เคลียร์ชัดสถานภาพ "แบงก์กรุงไทย" เป็นหน่วยงานรัฐ

12 พ.ย. 2563 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2563 | 02:54 น.

การกฤษฎีกา ชี้แจงข้อเท็จจริงสถานภาพ ธนาคารกรุงไทย "KTB" เป็นหน่วยงานรัฐ โดยกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจดำเนินการตามกลไกของบอร์ด ผู้ถือหุ้น ไม่ได้อยู่ในการควบคุม กำกับของเอกชน

12 พฤศจิกายน 2563 นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกเอกสารชี้แจง กรณีข่าวกรุงไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ โดยระบุว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า

ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าว เรื่อง สถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในประเด็นที่ธนาคารกรุงไทยฯ จะพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนชี้แจงว่า


1. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 29 ตรี แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคลในธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ ซึ่งเมื่อกองทุนอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย จึงยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ เพียงแต่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเท่านั้น เพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีเงินและทรัพย์สินจากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกองทุน

 

2. เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เกินร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด

ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงมีอำนาจดำเนินกิจการและกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงไม่ได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของเอกชนตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด

 

\"กฤษฎีกา\" เคลียร์ชัดสถานภาพ \"แบงก์กรุงไทย\" เป็นหน่วยงานรัฐ