ไทยรอด สหรัฐไม่ขึ้นแบล็กลิสต์ปั่นค่าเงิน แต่ถูกจับตามอง

17 ธ.ค. 2563 | 01:12 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2563 | 08:46 น.

ประเทศไทย รอดจากการถูกสหรัฐฯขึ้นแบล็กลิสต์ บัญชีดำประเทศ บิดเบือนค่าเงิน แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ถูกจับตามอง

กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้ขึ้นบัญชีเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า

 

ขณะเดียวกัน สหรัฐได้ขึ้นบัญชีไทย, ไต้หวัน และอินเดีย เป็นประเทศล่าสุดที่ถูกจับตามอง เนื่องจากอาจมีการใช้มาตรการลดค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์

 

ส่วนประเทศอื่นที่ถูกจับตามองได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อิตาลี และเยอรมนี

กระทรวงการคลังระบุว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อป้องกันการปรับเปลี่ยนในดุลการค้า ขณะที่เวียดนามมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่เป็นธรรม

สหรัฐมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อในการตัดสินว่าประเทศใดเข้าข่ายเป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงิน ได้แก่ ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน และเข้าซื้อดอลลาร์เกินกว่า 2% ของ GDP

 

ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน อาจถูกสหรัฐออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (CVD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 6.23-10.08% ซึ่งการดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นครั้งแรกเพื่อตอบโต้รัฐบาลต่างชาติที่จงใจลดค่าเงินเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้า โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามจงใจลดค่าเงินดองให้อ่อนค่าเกินจริงในปีที่แล้วเพื่อหวังผลทางการค้า

รายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า เวียดนามได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดอง ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นรายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์สำหรับการสอบสวนกรณีการนำเข้ายางรถยนต์จากเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสรุปว่าเวียดนามได้จำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเวียดนามเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา