หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกประกาศการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยมีการปรับฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจากเดิมที่เป็นฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมดเป็นฐานของเงินต้นของงวดที่ผิดนัดชำระ พร้อมกำหนดเพดานการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1-3% หรือรวมแล้วไม่เกิน 11% จากเดิมที่ผู้ให้บริการสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง แต่ส่วนใหญ่ใช้ 15% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564
ขณะเดียวกันธปท.ยังปรับลำดับการตัดชำระหนี้แบบแนวนอน โดยให้ตัดงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ทั้งค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น จากเดิมที่เป็นการตัดชำระแบบแนวตั้งคือ ตัดค่าธรรมเนียมที่ค้าชำระทั้งหมดก่อน จึงตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดแล้วค่อยตัดเงินต้น โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564
คณะกรรมการพัฒนากฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้สำรวจความเห็นผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่...) พ.ศ...หรือ ป.พ.พ. โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยและวิธีการคิดดอกเบี้ยในกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และเพื่อลดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและภาระแก่ประชาชน
ทั้งนี้สาระสำคัญ 3 มาตราจาก 11 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราที่ธปท.ประกาศ แต่ไม่เกิน 7.5%ต่อปี โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ธปท.คำนวณเฉลี่ยจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุด 5 แห่ง สำหรับรอบเวลา 6 เดือน
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่ธปท.กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่ม 3%ต่อปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 7.5% ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดการพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้นให้พิสูจน์ได้”
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อง ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายให้ใช้อัตราที่ธปท.ประกาศ แต่ไม่เกิน 7.5% ต่อปี เนื่องจากมาตราดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไปในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งเช่น กรณีลูกหนี้ละเมิด การเลิกสัญญา และต้องคืนเงิน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่ าให้คืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง
ทั้งนี้ การเสียดอกเบี้ยที่กำหนดให้คืนพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายมีเจตนาเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้หรือผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของเงินที่นอกจากจะมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนแล้วก็ควรได้รับดอกเบี้ยด้วยในจำนวนที่ไม่มากนักเป็นการตอบแทนและในทางกลับกันก็เป็นดอกเบี้ยในลักษณะเชิงลงโทษลูกหนี้หรือจำเลยดังนั้น หนี้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยดังกล่าว จึงเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากกิจการพาณิชย์ และในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่า มีลูกหนี้รายใดได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับอุปสรรคจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว แต่คนที่เดือดร้อนก็คือ เจ้าหนี้หรือผู้เสียหาย และควรแก้ไขโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ประกาศของธปท.ที่ออกมาขัดกับป.พ.พ.เรื่องการจัดสรรการชำระหนี้กับการคิดดอกเบี้ยว่า เริ่มผิดนัดตั้งแต่วันไหนเช่น การจัดสรรการชำระหนี้หรือการตัดหนี้ ธปท.บอกให้นำเงินที่ได้รับจากการชำระหนี้ไปชำระต้นเงินงวดที่ผิดนัดดอกเบี้ยนานที่สุดเป็นลำดับแรกก่อน แต่ป.พ.พ.ให้นำเงินที่ได้รับจากการชำระหนี้ไปชำระค่าธรรมเนียม ค่าทนาย ชำระดอกเบี้ย ถ้ามีเงินเหลือก็ชำระเงินต้น เพราะตามป.พ.พ.บอกว่า ถ้าเจ้าหนี้รับชำระหนี้ โดยชำระเงินต้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ไม่มีดอกเบี้ยค้าง ซึ่งถ้าลูกหนี้เจ้าหนี้ตกลงกันเองได้เช่น ชำระเงินต้นแต่พักดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะเงินต้นลด หนี้ก็จะค่อยๆลดลง ซึ่งขึ้นกับความตกลงกัน ไม่ใช่มาบังคับ
“เท่าที่ทราบธปท.ส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยังไม่ทราบว่ากฤษฎีกาจะว่าอย่างไรคือ การคิดดอกเบี้ยนั้นไม่ผิด แต่วิธีการตัดชำระหนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเริ่มวันไหน คิดอย่างไร อันนี้ไม่ตรงกับป.พ.พ.”
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธปท.คลอด 3 เกณฑ์ใหม่ คุมแบงก์โขกดอกเบี้ย ผิดนัดชำระหนี้ ตัดค่างวดค้างชำระ