ผลสำรวจแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 1 ปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือน ยังมีความต้องการสภาพคล่อง ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและอุปโภคบริโภค แต่สถาบันการเงินกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อถือของผู้กู้รวมถึงความเสี่ยงของหลักประกัน
ขณะที่ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าคงทน กอรปกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับลดลงหลังการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มลดลง
นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมการค้าและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (VTLA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี2564 สมาคมประเมินการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 17-18% ยอดสินเชื่อสุทธิประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า จะมียอดคงค้างสิ้นปีที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เพราะช่วงเศรษฐกิจไม่เติบโตมาก ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าและลูกค้านอกระบบต้องการสภาพคล่อง และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่สถาบันการเงินปฎิเสธการให้สินเชื่อ
ดังนั้น แนวทางทำธุรกิจ แม้ตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่ต้องระมัดระวังในการอนุมัติเช่นกัน เพราะสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่ม แต่ยังควบคุมได้
“ปีนี้เรายังเติบโตได้ แต่เหนื่อย เพราะต้องระมัดระวังเลือกลูกค้าได้บางราย หากไม่มีโควิดอาจจะเติบโตได้กว่านี้ ขณะที่การแข่งขันยังรุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยตํ่า จึงดึงดูดลูกค้านอกระบบเข้ามา”
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด(มหาชน)หรือ MTC กล่าวว่า บรรยากาศการปล่อยสินเชื่อเดือนมกราคมปีนี้ แตกต่างกับปีที่ผ่านมา หน้ามือเป็นหลังมือ จากช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ยอดสินเชื่อมักจะตํ่า เนื่องจากบริษัทหรือองค์กรจะมีโบนัสปลายปีให้กับพนักงาน ทำให้ความต้องการกู้เงินลดลง แต่ปี 2563 บริษัทบางส่วนปิดกิจการบ้าง ไม่มีเงินโบนัสบ้าง
ดังนั้นจะมีพนักงานส่วนหนึ่งไม่มีเงินส่งกลับบ้าน จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ดี เฉพาะเดือน มกราคมโต 25% จากจำนวนสาขาที่มี 5,000 สาขา มียอดอนุมัติเกือบ 100% เพราะเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน,ที่อยู่ชัดเจนอย่างกลุ่มเกษตรกร และมีที่ทำงานชัดเจน
“ความต้องการใช้เงินของประชาชนปีนี้ยังมีสูง จากความจำเป็นที่ลำบากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น บริษัทจึงมีกลยุทธ์ขยายธุรกิจให้บริการได้มากขึ้น โดยเปิดสาขาอีก 600 สาขา เพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อ 20% โดยได้ทยอยเปิดสาขาไปแล้ว 200 สาขา ขา ขณะที่ผู้เล่นหรือคู่แข่ง เป็นรายที่ทำตลาดอยู่แล้ว เช่น บมจ.ศักดิ์สยาม และกลางปีนี้เงินติดล้อจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังมีผู้เล่นในสมาคมอีก 10 รายที่เหลือเป็นผู้ประกอบการต่างจังหวัดๆ ละประมาณ 10ราย ทั้งจดทะเบียนนิติบุคคลและส่วนตัว”
สิ้นปี 2563 คาดว่า จะมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 7 หมื่นล้านบาทและแนวโน้มสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท และบริษัทอยู่ระหว่างทดลองทำตลาดธุรกิจเช่าซื้อเปลี่ยนรถให้ลูกค้าเก่าที่ผ่อนชำระหนี้เก่าครบแล้ว เป็นช่วงเรียนรู้ติดต่อเอเยนต์,การผ่อนชำระ ซึ่งคาดหวัง 3-4 พันคนต่อเดือน เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อคัน ซึ่งเฉพาะเดือนมกราคมเข้ามาแล้วเกือบ 3,000 คน เพราะมีฐานลูกค้าเดิม ถ้าลูกค้าชำระเงินกู้ครบต่อปี 10% จะมีลูกค้าหมุนกลับมาใช้สินเชื่อเช่าซื้ออีก ปัจจุบันฐานลูกค้ามีจำนวน 2.5 ล้านราย
“เอ็นพีแอลตอนนี้ 1.1% ตั้งเป้าไม่เกิน 2% โดยปีนี้พยายามจะควบคุมคุณภาพลูกค้า เพราะกลุ่มลูกค้า 90% เป็นเกษตรกร ซึ่งปีนี้ราคาพืชผลเกษตรดีขึ้น ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย จะเอื้อต่อการขอสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้”
นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของลูกค้ายังมีอยู่ โดยในส่วนของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ปีนี้คาดหวังจะปิดยอดสินเชื่อได้ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายทุกอาชีพที่มีหลักประกันทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ที่รับโอนกรรมสิทธิแล้ว 1 เดือน ถ้าเป็นรถยนต์ต้องโอนกรรมสิทธิ์มาแล้ว 6 เดือน คิดดอกเบี้ยในอัตรา 21%ต่อปี เฉลี่ย 0.98%ต่อเดือน โดยจะพิจารณาจากรายได้ขั้นตํ่า 8,000 บาท/เดือน สำหรับลูกค้าอิสระทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการพ่อค้า แม่ค้า กำหนดรายได้ที่ 4 หมื่นบาท/เดือน โดยเน้นจุดขายให้วงเงินใหญ่ 7 แสนบาท ได้รับวงเงินภายใน 2 ชั่วโมง
“เคทีซีพี่เบิ้มตั้งใจจะบุกสินเชื่อ 2 กลุ่ม ทั้งสินเชื่อมอเตอร์ไซด์และรถยนต์ เพราะไม่ห่วงเรื่องดีมานด์ลูกค้า ปีนี้เน้นดูความเสี่ยง อาชีพและประวัติด้วย ที่ผ่านมาเราเป็นขวัญใจลูกค้าที่กู้กับสถาบันการเงินอื่นไม่ผ่านแล้วมาที่เรา ซึ่งช่วงทดลองทำตลาด ผลตอบรับดีมียอดอนุมัติ 180 กว่าล้านบาท โดย 90% เป็นจำนำทะเบียนรถยนต์ แต่มอเตอร์ไซด์เพิ่งทำตลาด วงเงินเฉลี่ยที่ผ่านมา ลูกค้าได้รับ 2 แสนบาทพอร์ตเรายังใหม่ จึงยังไม่มีเอ็นพีแอล”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“จำนำทะเบียนรถ” เดือด "ออมสิน" ทุ่ม 1.5 พันล้านร่วมทุนเอกชน
บจ.แห่ยื่นขอไลเซนส์สินเชื่อ จำนำทะเบียนรถ ชิงเค้ก 2 แสนล้าน
MTC มั่นใจผลงานครึ่งปีหลังโตแกร่ง
MTC ขายเกลี้ยงหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท เตรียมนำเงินรองรับแผนปล่อยกู้