สินเชื่อบ้านไตรมาส1โตต่อเนื่อง

21 มี.ค. 2564 | 21:15 น.

แบงก์ชี้ สินเชื่อบ้านไตรมาสแรกโตต่อเนื่อง แนวราบยังเป็นที่ต้องการ หันไปเน้นราคา 5 ล้านอัพ หลังเห็นสัญญานบ้านระดับราคา 3-5 เลี่ยงเป็นหนี้เสียมากขึ้น ขณะที่เจ้าของโครงการโหมโปร กระตุกลูกค้าทั้งลดราคา-อยู่ฟรีนาน 3 ปี กระตุ้นตลาดไม่ให้หดตัว

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารชุด ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่ต้องการซื้อหรือลงทุนในอาคารชุด โดยเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่หลังที่ 2 เป็นต้นไป รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อยอดขายจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งกระทบต่อเนื่องลากยาวมาถึงปี 2563 ที่มีเรื่องการระบาดของโควิด-19 มาซํ้าเติมอีก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 26 มกราคม 2564 จึงมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยคือ ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 2.0% เป็น 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 1.0% เป็น 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง โดยเป็นการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

นายณัฐพล พร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความต้องการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อน เพราะหลังการทำงานที่บ้านหรือ WFH แนวโน้มบ้านแนวราบ เช่น ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์บ้านแฝด และบ้านเดี่ยวเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยผู้ซื้อเขยิบไปทำเลชานเมือง แต่คอนโดมิเนียนที่ยังมีสต๊อกมีการปรับลดราคาลงอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะระดับราคาที่ตํ่ากว่า 5 ล้านบาทลงมา จะมีแคมเปญให้เลือกมาก เป็นโครงการที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ซึ่งเจ้าของโครงการจะมีโปรโมชั่นจากพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจทั้งในรูปแบบดอกเบี้ยตํ่า แคมเปญอยู่ฟรี 2 ปีหรืออยู่ฟรี 3 เพื่อกระตุกให้ลูกค้าเข้าไปดูโครงการ เช่น บ้านราคา 5 ล้านบาท จะได้รับส่วนลด 500,000 บาท โดยซื้อในราคา 4.5 ล้านบาท เป็นการกระตุ้นตลาดที่ดี ไม่ทำให้ตลาดหดตัวและเจ้าของโครงการไม่เสียแบรนด์ 

สินเชื่อที่อยู่อาศัยปี2563

“แบงก์กรุงศรี อยู่ระหว่างพิจารณาจะออกแคมเปญเสริมช่วยลูกค้าวางแผนทางการเงิน แต่จะไม่กระตุ้นกำลังซื้อในขณะที่ยังไม่พร้อม”นายณัฐพลกล่าว 

ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคาร กสิกรไทยระบุว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ตามเป้า ครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งมนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของกิจการ และอาชีพอิสระที่ค้าขายออนไลน์ โดยลูกค้ายังมีความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่าแนวสูง ส่วนหนึ่งเพราะบ้านแนวราบมีการลดราคาขายให้ผู้ซื้อเข้าถึงได้มากขึ้นและสอดคล้องกับเจ้าของโครงการที่มีการเปิดตัวโครงการแนวราบมากกว่าแนวสูง 

สำหรับสิ้นปีคาดว่า ยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยน่าเติบโตประมาณ 7-8% จากปีก่อน โดยตั้งเป้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน

ด้านคุณภาพสินเชื่อนั้นธนาคารสามารถบริหารจัดการ พร้อมกับออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ เช่น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยและลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.1% เป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวด 50% ของค่า งวดเดิมเป็นเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน โดยลูกค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ 1 มกราคม -30 มิถุนายน 2564 

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ น่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากผ่านจุดตํ่าสุดแล้ว แต่กว่าจะเห็นเศรษฐกิจขยับตัวชัดคงใช้เวลาถึงไตรมาส 3และ4 ขณะที่ศูนย์วิจัย ซีไอเอ็มบีไทยประเมินสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้จะขยายตัวที่ 6.5% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบจะเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 แต่ในส่วนของคอนโดมิเนียม มีโอกาสหดตัว

ทั้งนี้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังแผ่ว ซึ่งเป็นฤดูกาลปกติ เพราะเจ้าของโครงการส่วนใหญ่เร่งปิดยอดขายไปเมื่อปลายปี แต่ที่ผ่านมาด้านอุปสงค์ของตลาดจะเห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น เพราะมองว่า บ้านเดี่ยวเป็นอุปสงค์ที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามสินเชื่อบ้านปีนี้ยังเติบโตแต่มาช้าโดยเห็นเจ้าของโครงการเน้นทยอยทำบ้านเดี่ยวระดับราคา 3-5 ล้านบาทออกมา แต่สิ่งที่พบคือราคา 3-5 ล้านบาทจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ค่อนข้างสูง ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อจึงเน้นรายใหญ่มากขึ้นคือ ระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อที่จะเลี่ยงราคาระดับกลาง 3-5 ล้านบาท 

“แม้เศรษฐกิจไทย จะผ่านจุดตํ่าสุดแล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่เดิน ทำให้กำลังซื้อยังไม่มี ขณะที่ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังพอมีอยู่ แต่ภาพรวมไตรมาส 1 ยังอืด เนื่องจากบ้านเป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่คนซื้อเองระมัดระวังในการซื้อ จึงต้องรอดูเศรษฐกิจ ภายหลังการฉีดวัคซีนน่าจะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป”นายเอกสิทธิ์กล่าว  

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564