นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจง กรณีมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในการปฏิบัติ พิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์ สิ่งของที่ส่งมาจากต่างประเทศ โดยในส่วนกระแสข่าวที่ผู้รับได้สินค้าไม่ครบนั้น พบว่า สินค้าถูกส่งมาจากอเมริกา แต่มีการแวะพักประเทศทางอเมริกาใต้ ก่อนจะส่งมายังไทย ซึ่งในเอกสารแสดงรายละเอียดแจ้งมีสินค้า 4 รายการ แต่เมื่อผู้รับเปิดกล่องพบสินค้ามี 4 รายการจริง แต่สินค้าไม่ตรงกับที่สั่ง
อธิบดีกรมศุลกากร ยอมรับว่าตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัย เช่น ต้นทางส่งไม่ครบ การแจ้งรายละเอียดสินค้าไม่ตรงกับจำนวนหรือราคาที่ส่งจริง เป็นต้น
ทั้งนี้การส่งพัสดุทางไปรษณีย์ข้ามประเทศ จะคิดค่าขนส่งจากน้ำหนักสินค้าในหีบห่อเป็นหลัก ไม่บังคับการทำประกันสินค้า จึงไม่ต้องตรวจสินค้าก่อนทำการหีบห่อว่าตรงกับเอกสารที่แจ้งหรือไม่ ต่างกับการขนส่งผ่านเอกชนที่บังคับทำประกันสินค้า ทำให้ต้องมีการแสดงสินค้าให้เจ้าหน้าที่ดูก่อนจะปิดหีบห่อ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ไปรษณีย์ถูกใช้เป็นช่องทางการลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563 มีพัสดุที่ส่งจากต่างประเทศผ่านไปรษณีย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านชิ้น และพัสดุที่ขนส่งโดยขนส่งเอกชนประมาณ 38 ล้านชิ้น
“กรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกรมศุลกากรโดนปรักปรำ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จึงขอชี้แจง และจะเร่งปรับปรุงระบบให้เกิดวามโปร่งใสที่สุด โดยจะเพิ่มแนวทางปฏิบัติภายใน เพิ่มขั้นตอนการส่งมอบกับไปรษณีย์ไทย มีการแยกพื้นที่คัดแยกพัสดุให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น เพิ่มจำนวนกล้องวงจรปิดบริเวณจุดคัดแยก และชี้แจงเหตุผลราคาประเมินไปยังผู้รับให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่านหน้าเว็บไซต์กรมศุลกากรต่อไป” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าว
โดยขั้นตอน เมื่อพัสดุส่งมาถึงไทย จะถูกแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ ราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นอากร กลุ่มที่ 2 คือ ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง 1,500-40,000 บาท ต้องชำระอากร แต่พบส่วนใหญ่แจ้งราคาต่ำกว่าราคาจริง และกลุ่มที่ 3 คือ สินค้าเกิน 40,000 บาท ซึ่งต้องแสดงรายละเอียดสินค้าและชำระอากรโดยหากพบพัสดุที่น่าสงสัย เช่น ขนาดกล่องกับรายละเอียดที่แสดงมีความผิดปกติ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะเป็นผู้เปิดพัสดุกล่องนั้นร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่า สินค้าในกล่องตรงกับเอกสารที่แสดงรายละเอียดหน้ากล่องหรือไม่
โดยการประเมินภาษีจะปฏิบัติตามประมวลระเบียบการประเมินราคาภาษีศุลกากรและการค้าขององค์การการค้าโลก ซึ่งใช้ราคาซื้อขายจริง โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบราคาสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ของต่างประเทศ หลังจากนั้นจะดำเนินการปิดหีบห่อ ด้วยเทปกาวที่มีข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ “เปิดตรวจ/ปิดผนึก” แล้วจึงส่งพัสดุไปยังที่ทำการไปรษณีย์ที่ใกล้ผู้รับที่สุด และส่งแจ้งไปยังผู้รับให้มาชำระภาษีอากรเพิ่มเติม ซึ่งหากผู้รับไม่เห็นด้วย สามารถยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่ได้ โดยอธิบดีกรมศุลกากรย้ำ ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หากไม่มาชำระเพื่อรับสินค้าภายใน 30 วัน หากเป็นสินค้าผิดกฎหมายจะถูกนำไปทำลาย แต่หากเป็นสินค้าทั่วไปจะถูกตีกลับไปยังประเทศต้นทาง
“กลุ่มที่เป็นปัญหาคือกลุ่มที่ราคา 1,500 – 40,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 300,000 แสนชิ้น/ปี โดยมีการอุทธรณ์ให้ประเมินราคาใหม่ ประมาณ 1% หรือ ประมาณ 3,000 ชิ้น ซึ่งหากมีหลักฐานแสดงการซื้อขายการชำระเงินประกอบคำร้อง กรมศุลกากรจะพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยมีผู้อุทธรณ์ผ่านและได้รับการปรับลดราคาจากราคาแรกที่กรมศุลกากรประเมิน ประมาณ 70% ของจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ทั้งหมด" อธิบดีกรมศุลกากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัจจุบันเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้สินค้าที่เป็นของสะสมจากดาราศิลปินเกาหลีมีการสั่งซื้อและที่มีการแสดงรายละเอียดหน้าหีบห่อเป็นเท็จมากกว่าสินค้าแบรนด์เนม เช่น พัสดุที่ส่งมาจากประเทศเกาหลีใต้ แสดงรายละเอียดว่าเป็นอัมบั้มภาพดาราศิลปินเกาหลี น้ำหนักพัสดุ 22 กิโลกรัม แสดงราคาสินค้ารวม 45 ดอลลาร์ฯ แต่เมื่อทำการเปิดตรวจสินค้า พบ เป็นอัมบั้มฯ จำนวน 10 เล่ม มีราคาขายผ่านหน้าเว็บไซต์ปัจจุบันอยู่ที่ 49 ดอลลาร์/เล่ม เป็นต้น
สำหรับ สถิติการนำเข้าสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2563 มีทั้งหมด 4,817,355 หีบห่อ ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีทั้งหมด 5,989,619 หีบห่อ ขณะที่สถิติการจับกุมตรวจยึดสิ่งของผิดกฎหมาย ของส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ปีงบประมาณ 2563 มีดังนี้ ยาเสพติด จำนวน 214 ราย น้ำหนัก 978.92 กิโลกรัม มูลค่า 404,770,100 บาท วัตถุลามก จำนวน 356 ราย น้ำหนัก 1,077.87 กิโลกรัม มูลค่า 1,796,000 บาท บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 391 ราย น้ำหนัก 451.15 กิโลกรัม มูลค่า 257,300 บาท