ชสอ. วอนรัฐบาลสนับสนุนแผนฟื้นฟูการบินไทย หวั่นสมาชิกแห่ถอนเงิน เหตุทางการยังไม่มีแนวทางชัดเจนต่อกรณีสินเชื่อก้อนใหม่ไม่น้อยกว่า 50,000ล้านบาทนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟู ขณะที่ภาคเอกชนเตรียมวงเงิน 25,000ล้านบาท โดยเฉพาะศาลล้มละลายกลางนัดโหวตแผน 12 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 พลตำรวจโท (วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล) ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.)ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมมีเอกสารสำเนาถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยอ้างถึงคดีฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทย ทั้งนี้เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาการสนับสนุนบมจ.การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ
สาระสำคัญของหนังสือดังกล่าว โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ชสอ. และสหกรณ์สมาชิกได้นำเงินสมาชิกไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงินประมาณ 41,000 ล้านบาท ต่อมา การบินไทย ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้น ผู้ทำแผนของการบินไทยได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น ประมาณการทาง การเงินที่การบินไทยจำเป็นต้องได้รับสนับสนุนเงินทุน หรือวงเงินสินเชื่อใหม่ไม่น้อยกว่า 50,000ล้านบาทนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูเพื่อจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ตามแผนพื้นฟูกิจการ โดยภาคเอกชนน่าจะให้การสนับสนุนการบินไทยจำนวน 25,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐกลับยังไม่ปรากฎแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินจำนวน 25,000 ล้านบาทให้กับการบินไทยในรูปแบบต่าง
การสนับสนุนทางการเงินให้กับการบินไทยจำนวน 25,000 ล้านบาทดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย รวมทั้งส่งผลด้านเศรษฐกิจ แนวนโยบายแห่งรัฐในด้านต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว การขนส่ง การจ้างงาน ซึ่งล้วนมีนัยสำคัญต่อรายได้ของประเทศ นอกจากนี้ หากการบินไทยไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ รวมถึง ชสอ. และสหกรณ์สมาชิกได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาเพียงสมาชิกของ ชสอ. และสหกรณ์ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านราย และเมื่อรวมครอบครัวของสมาชิกจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 ล้านราย อีกทั้งเงินของสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเงินออมจากการทำงานของสมาชิก ซึ่งบางสวนเป็นเงินของสมาชิกที่เกษียณจากการทำงานไปแล้ว และบางสวนเป็นเงินสมาชิกที่ยังทำงานอยู่แต่ก็ได้นำเงินออมของครอบครัวมานำฝากไว้กับ ชสอ. และสหกรณ์สมาชิก ทั้งนี้ ความยังปรากฎว่า มีสหกรณ์สมาชิกบางรายได้นำเงินฝากส่วนใหญ่เข้าลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทยซึ่งหากการบินไทยไม่สามารถชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์สมาชิกดังกล่าวได้ สหกรณ์สมาชิกดังกล่าวย่อมต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และสหกรณ์สมาชิกบางราย ได้กู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินของประเทศเพื่อนำมาให้กับสมาชิกกู้ยืม เมื่อสหกรณ์สมาชิกล้มละลายย่อมไม่อาจชำระเงินคืนให้กับสถาบันการเงินดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน การนี้ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศที่มีนัยสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ หากฝ่ายรัฐมิได้ออกแนวนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินให้กับการบินไทยได้ทันก่อนวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 การนี้จะเกิดวิกฤติการขอถอนเงินจากสมาชิกของ ชสอ. และสหกรณ์สมาชิก รวมทั้ง สถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินอย่างรุนแรง เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะเพียง ชสอ. และสหกรณ์สมาชิก อาจต้องขอเบิกเงินเพื่อนำมาเตรียมไว้ให้สมาชิกถอน ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินฝากของ ชสอ. และสหกรณ์สมาชิก และอาจส่งผลให้สหกรณ์ไม่สามารถให้สมาชิกถอนเงินได้อย่างทันท่วงทีก็จะหมดความเชื่อมั่นต่อสมาชิกซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งระบบอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :