บลจ.ไทยพาณิชย์ ปันผล 4 กองหุ้นไทย 920 ล้านบาท

21 พ.ค. 2564 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2564 | 06:47 น.

บลจ.ไทยพาณิชย์ ปันผล 4 กองหุ้นไทย SCBDV, SCBDV-SSF, SCBSE และ SCBSE-SSF มองบวกหุ้นไทยปรับตัวต่อเนื่องหลังรับวัคซีน แนะจังหวะสะสมในพอร์ต

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นไทย กว่า 920 ล้านบาท จำนวน 4 กองทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกันในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 2563 - วันที่ 30 เม.ย. 2564  ในอัตรา 1.00 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 27 รวมจ่ายปันผล 19.09 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2546)

 

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (ชนิดเพื่อการออม) (SCBDV-SSF) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 2563 - วันที่ 30 เม.ย. 2564 และกำไรสะสม กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.15 บาทต่อหน่วย ทั้งสองกองทุนเป็นกองทุนที่มีแนวทางการบริหารเชิงรุก โดยการคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีและมีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับที่น่าสนใจเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมีเสถียรภาพแก่นักลงทุนในระยะยาว พร้อมโอกาสรับกระแสเงินสดจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2563 - วันที่ 30 เม.ย. 2564 ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBSE)  กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย โดยได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ไปแล้ว 0.25 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.25 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 19 รวมจ่ายปันผล 7.96 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2554)

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (ชนิดเพื่อการออม) (SCBSE-SSF) กำหนดจ่ายในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย โดยได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 จำนวน 0.10 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.10 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 2 โดยทั้งสองกองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนด้วยวิธี Active Approach ด้วยการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุดและสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในขณะนั้น

 

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทย  จากสิ้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 13 พ.ค. 2564) ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นประมาณ 6.82% โดยปัจจัยหลักเกิดจากความคาดหวังเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากที่ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในระลอกที่ 2 เริ่มควบคุมได้ ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูงมากจากเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางทั่วโลกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

แม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการระบาดของโรค Covid-19 ระลอกที่ 3 ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังภายหลังจากที่ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ฉะนั้นการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในระยะสั้นถือเป็นจังหวะในการสะสมหุ้นไทย เพื่อรอจังหวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: