การจัดทำงบประมาณ รายจ่ายประจำปี ที่เป็นงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องยาวนาน มาตั้งแต่ปี 2550 สะท้อนการจัดเก็บรายได้รัฐบาลไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ขาดดุลงบประมาณสูงถึง 7 แสนล้านบาท ทำให้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552 นํ้าท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือ การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลจะต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มวงเงินกู้ใหม่เสมอ
ล่าสุดคือ การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ…. เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อเยียวยา ฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องมีกรอบวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และเพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง
ขณะเดียวกันการระบาดของโควิด-19 ยังกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอีกด้วย โดยตัวเลขล่าสุดพบว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-เมษายน 2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิที่ 1,222,401 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 128,854 ล้านบาท หรือ 9.5% และตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 78,284 ล้านบาท หรือ 6.0%
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ที่ตํ่ากว่าประมาณการเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐอื่นๆ นำส่งรายได้เข้าคลังตํ่ากว่าเป้าหมายทั้งหมด ขณะที่เป้าหมายจัดเก็บรายได้สุทธิตามเอกสารงบประมาณปี 2564 อยู่ที่ 2,677,000 ล้านบาท
หากพิจารณา 3 กรมจัดเก็บภาษีหลัก พบว่า กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 875,155 ล้านบาท ตํ่ากว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 7.9% หรือที่ตั้งไว้ 949,292 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 2,085,300 ล้านบาท กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 331,718 ล้านบาท ตํ่ากว่า
เป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.2% จากที่ตั้งไว้ 361,273 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 643,000 ล้านบาท ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บได้ 58,891 ล้านบาทตํ่ากว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2.3% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 60,300 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายทั้งปีที่ 104,800 ล้านบาท
ส่วนหน่วยงานอื่นๆอย่างรัฐวิสาหกิจ รายได้พลาดเป้าถึง 29.3% จากเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 108,921 ล้านบาท แต่ช่วง 7 เดือนทำได้เพียง 76,994 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ 159,800 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐอื่นๆ เองก็รายได้พลาดเป้า 16.4% จากเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ 121,630 ล้านบาท แต่จัดเก็บได้เพียง 101,739 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 173,000 ล้านบาท
อย่างก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งคำถามถึงการกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่า เป็นการกู้ เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ชี้แจงว่า เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดใน 3 ประเด็นเท่านั้นคือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลแต่อย่างใด
“การกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิดใน 3 ด้าน ไม่ใช่การกู้เพื่อนำมาปิดหีบงบประมาณ ซึ่งเรื่องการจัดเก็บรายได้ ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ดูเรื่องนี้อยู่ ด้านรายได้อาจจะไม่ได้ตามเป้า ก็จะต้องมาดูเรื่องรายจ่าย ก็ต้องมีการบริหารกันได้ ต้องติดตามระยะต่อไปว่าจะมีช่องทางไหนบ้างที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้จนสิ้นปีงบประมาณ”นายแพตริเซียกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ แสนล้านได้จัดสรรวงเงินการใช้จ่ายแต่ละส่วนจนเต็มวงเงินคือ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาท (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564