นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าดัชนีมีแนวโน้มจะเริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง หลังตลาดได้ปรับฐานตามคาดในเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนมาจากประเด็นเรื่องของวัคซีน ทั้งการเริ่มต้นทยอยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในวงกว้างเดือนนี้ และความหวังของวัคซีนทางเลือกที่มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากเม็ดเงินสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทยอยออกมา และการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อพยุงเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย
สำหรับปัจจัยหนุนด้านวัคซีนนั้น จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโลกในปีนี้กับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโดยพิจารณาจากอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรพบว่า อัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10% จะมีผลเชิงบวกต่อผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2.5% ซึ่งตามแผนของรัฐบาลจะเริ่มกระจายวัคซีน AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสที่ผลิตภายในประเทศในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมหากรัฐบาลสามารถดำเนินการให้มีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้า และมีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ระบาด COVID-19 ในประเทศยังคงยืดเยื้อ โดยปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 2,000 – 3,000 คนต่อวัน แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในเดือนนี้ นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระยะถัดไป ขณะที่ตัวเลขการส่งออกไทยที่ขยายตัวดี ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีหวัง ล่าสุดเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยในเดือนเมษายน การส่งออกเพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม รวมทั้งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ประมาณ 10% โดยหากนับตั้งแต่ต้นปี การส่งออกขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรวมทั้งปีคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ ปัจจัยบวกจากการออก พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มิถุนายนนี้นั้น หากไม่นับรวมงบประมาณด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท จะมีงบประมาณที่จะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4.7 แสนล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP) ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงในแง่บวก (Upside Risk) ต่อประมาณการ GDP ซึ่งปัจจุบัน บล.ทิสโก้มองว่า GDP ไทยในปี 2564 จะอยู่ที่ 2% อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องของลักษณะมาตรการและกรอบระยะเวลาดำเนินการ รวมทั้งความสามารถในการเร่งเบิกจ่ายงบ ว่าจะสามารถทำได้ทันเป้าหมายภายในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ประเด็นการลงทุนระยะสั้นในหุ้นที่คาดว่าจะเข้าและออกจากดัชนี SET 50 นั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะประกาศรายชื่อหุ้นที่อยู่ใน SET50 และ SET100 ชุดใหม่สำหรับใช้ในการคำนวณดัชนีครึ่งปีหลัง (1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2564) ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ จากการประเมินครั้งสุดท้ายคาดว่าหุ้นที่จะเข้า SET50 มี 3 ตัว คือ STGT, IRPC และ STA ซึ่งจะมาแทน VGI, BAM และ TOA ที่คาดว่าจะตกชั้นไปอยู่ในดัชนี SET100 ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะเข้าดัชนี SET100 มี 8 ตัว คือ STGT, STARK, M, BLA, RCL, TTA, DCC และ PSL ซึ่งคาดจะมาทดแทน GFPT, WHAUP, MAJOR, PRM, BEC, ORI, AMATA และ STEC ที่คาดว่าจะออกไปจากคำนวณดัชนี
“เรามองหุ้นที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี SET50 น่าสนใจต่อการลงทุนระยะสั้น เพราะราคาหุ้นมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีกว่าตลาด จากการศึกษาข้อมูลการซื้อขายในอดีตนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 เป็นต้นมา พบว่า ในช่วงก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เดือน, 3 สัปดาห์, 2 สัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET50 จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกโดยเฉลี่ยประมาณ 7.6%, 4.4%, 2.5% และ 1.8% ตามลำดับ ซึ่งระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยมากกกว่าระดับ 70% หมายความว่า หากซื้อหุ้นตัวนั้นก่อนวันที่จะมีผลบังคับใช้ 1 เดือน จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 7.6% หรือหากซื้อหุ้นตัวนั้นก่อน 1 สัปดาห์ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.8% ตามลำดับ ส่วนหุ้นที่ถูกปลดออกจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นลบราว 3-4% ในช่วงเวลาดังกล่าว”
ด้านกลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้ เน้น 3 ธีมการลงทุนหลัก คือ 1. หุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ลุ้นการฟื้นตัวจากฐานราคาที่ต่ำ แนะนำ BAM, BTS, CPALL และ CPN 2. หุ้นที่แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังจะเติบโตดี แนะนำ ROJNA, SPALI และ TPIPL และ 3. หุ้นที่คาดว่าจะเข้า ดัชนี SET50 ในครึ่งปีหลัง แนะนำ STGT ดังนั้น หุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนมิถุนายน คือ BAM, BTS, CPALL, CPN, ROJNA, SPALI, STGT และ TPIPL
นอกจากนี้ แนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,570 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,540 – 1,550 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,600-1,610 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,640- 1,650 จุด ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ 1. การกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ 2. สถานการณ์ระบาดภายในประเทศที่เลวร้ายมากขึ้น และ 3. แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงการส่งสัญญาณลดสภาพคล่อง (QE Tapering) ที่เร็วกว่าคาด