ไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจาก “ผู้ใช้เทคโนโลยี” เป็น “ผู้นำเทคโนโลยี” (ตอนจบ)

11 มิ.ย. 2564 | 09:49 น.

ไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจาก “ผู้ใช้เทคโนโลยี” เป็น “ผู้นำเทคโนโลยี” (ตอนจบ) คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย ธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ในฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี (Adopters) กระโดดไปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี (Frontrunners) ซึ่งจะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นตามไปด้วย สามารถอ่านได้ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ ฉบับที่ 3680 ลงวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2564

 

ฉบับนี้จะเจาะลึกรายละเอียด “การจะเป็นผู้นำเทคโนโลยี” ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงและพัฒนาส่วนใดบ้าง โดยนำข้อมูลตัวเลขการวัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่จัดทำโดย บริษัทหัวเว่ย (Huawei) ในรายงาน Global Connectivity Index Report 2020 ที่กล่าวถึงจุดแข็งและโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

 

โดยนำดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดีมานด์และซัพพลายของจำนวนครัวเรือน แม้ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสามารถขยายได้อีกมาก หากเร่งสนับสนุนให้ประชาชนระดับครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ความพร้อมการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

ส่วน “จุดที่ต้องหาโอกาสพัฒนาต่อยอด” คือ ระดับการใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก ในปี 2563 ไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 16.8 ล้านคน คิดเป็น 26.4% ของประชากรเท่านั้น แม้ว่าไทยจะมีระดับการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสูงตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่กลับพบว่า มีการใช้คอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย ชี้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นผู้รับและใช้เทคโนโลยีของประเทศผู้นำเทคโนโลยีเป็นหลัก กล่าวคือ ไม่ได้เป็นผู้ผลิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีขึ้นมานั่นเอง

 

ดังนั้น การพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มดีมานด์การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวชี้วัดความปลอดภัยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหรือดึงดูดให้บริษัทซอฟแวร์บริการด้านความปลอดภัยของข้อมูลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

 

ลำดับต่อมา...ความพร้อมด้านซัพพลาย (Supply) “จุดที่ไทยแข็งแกร่ง” คือ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมค่อนข้างพร้อมจากการลงทุนของกิจการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง มีความรุดหน้าของแผนการพัฒนาระบบ 4G/5G อย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบกฎหมายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของไทยที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ Digital ID & Signature, Digital Document, Digital Payment ฯลฯ

 

จะเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างพร้อมในปัจจุบัน ช่วยสนับสนุนดีมานด์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ แต่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดกิจการใหม่ๆ ที่ผลิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า Start Up ยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเห็นได้จากการลงทุนด้าน Internet of thing: IoT การลงทุนด้าน Artificial Intelligence: AI และการลงทุนด้าน Security Software ยังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดกิจการไทยสายเลือดใหม่ที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้

กล่าวโดยสรุป ไทยมีความแข็งแกร่งด้านดีมานด์ที่ประชาชนมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และค่อนข้างมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีกฎหมายสนับสนุนรองรับให้เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ยังต้องการพัฒนาต่อยอดเพิ่ม คือ การสนับสนุนให้เกิดกิจการด้านเทคโนโลยีที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้ในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น ตั้งแต่ การลดต้นทุน การบริหารจัดการงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถไถไร้คนขับ โดรนพ่นยาฆ่าแมลง ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้สามารถต่อยอดไปยังตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น

 

ดังนั้น กิจการเหล่านี้ต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนทั้งในด้านเงินทุน แผนการผลิต แผนการตลาด รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโยโลยี ซึ่งหากดำเนินการได้ ไทยจะเปลี่ยนจาก “ผู้ใช้เทคโนโลยี” เป็น “ผู้นำเทคโนโลยี” ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: