วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในรอบสัปดาห์นี้ว่า ความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมร่วงลงต่อเนื่อง คาดความคืบหน้าจากการฉีดวัคซีนจะช่วยหนุนการฟื้นตัว โดยดัชนีการความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44.7 จาก 46.0 เดือนเมษายน เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ 82.3 จาก 84.3 เดือนเมษายน สาเหตุหลักจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม กอปรกับในเดือนพฤษภาคมมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม
แม้สถานการณ์การระบาดยังไม่บรรเทาลงในปัจจุบัน แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าอาจมีปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง ได้แก่
1. การปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้เป็นวงกว้าง ล่าสุด 7 วัน (วันที่ 7-13 มิถุนายน) อัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 แสนโดสต่อวัน
2. ความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.มาตรการรัฐเพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชนวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง และการคาดหวังมาตรการเพิ่มเติมจากพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ที่อาจใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท
4.ธปท.ขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นถึงสิ้นปีนี้ (เดิมสิ้นสุดเดือนมิถุนายน) แก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้
ด้านภาคท่องเที่ยว แม้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มดำเนินการได้ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจยังมาไม่มากนักในไตรมาส 3 การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมีกำหนดดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ โดยมีกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องอยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นเป็นเวลา 14 วัน (ปรับจากเดิม 7 วัน) ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการทบทวนในรายละเอียดและนำเสนอให้ค.ร.ม.พิจารณาอนุมัติต่อไป
แนวทางการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ล่าสุดทางการกำหนด 10 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และกรุงเทพมหานคร จากข้อมูลในปี 2562 พบว่าทั้ง 10 จังหวัดข้างต้น สามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันสูงเกือบ 95% ของรายได้ทั้งหมดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ การเริ่มโครงการภูเก็ตแชนด์บ็อกซ์เป็นต้นแบบ ก่อนจะทยอยเปิดเพิ่มเติมในพื้นที่นำร่องอื่นๆ ซึ่งทางการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 129,000 คน ในช่วงไตรมาส 3/2564 ทั้งนี้ การที่แต่ละพื้นที่นำร่องจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จะต้องมีการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละพื้นที่ครบตามจำนวนที่ขอไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกต์จะสามารถดำเนินการได้แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาอาจยังมีไม่มากนัก โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จะมีประมาณครึ่งหนึ่งจากเป้าของทางการ เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดในไทย รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญยังเผชิญกับการระบาดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงอยู่ อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ เงื่อนไขและข้อกำหนดทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทางที่อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ
ในส่วนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมหารือแผน มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE tapering) ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจโลกเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 80 ปี แม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ โดยในปี 2564 GDP โลกอาจขยายตัว 5.6% สูงกว่าประมาณการเดิมซึ่งคาดไว้ที่ 4.1% (เดือนมกราคม 2564) ด้วยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯและจีน พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศแกนหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ 6.8% (เดิม 3.5%) ยูโรโซน 4.2% (3.6%) ญี่ปุ่น 2.9% (2.5%) และจีน 8.5% (7.9%)
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังมีความล่าช้าในการกระจายวัคซีน และมีความไม่แน่นอนที่อาจกดดันการฟื้นตัว ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในบางประเทศอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือการระบาดรอบใหม่
2. แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ และอาจส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น
3.การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสบางตัวสามารถต้านภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอาจทำให้ยังคงมีการระบาด การฟื้นตัวจึงล่าช้าออกไป ธุรกิจที่เปราะบางอาจเผชิญปัญหาการล้มละลาย และกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของบางประเทศได้
เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มอาจหนุนให้เฟดเริ่มหารือแนวทางปรับการผ่อนคลายเชิงปริมาณในระยะอันใกล้นี้ ในเดือนเมษายนตัวเลขการเปิดรับสมัครงานแตะระดับ 9.3 ล้านตำแหน่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 5.0% YoY สูงสุดในรอบ 13 ปี สำหรับในเดือนมิถุนายนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มสู่ระดับ 86.4 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มิถุนายน ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ 3.76 แสนราย
ข้อมูลล่าสุดชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นต่อเนื่อง ขณะที่การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะฐานต่ำในปีก่อนซึ่งอยู่ในช่วงของการใช้มาตรการล็อคดาวน์ รวมทั้งข้อจำกัดในภาคการผลิตที่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ส่วนการฟื้นตัวยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของสภาคองเกรส ล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดน ได้พยายามผลักดันแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือ American Jobs Plan มูลค่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอาจเลือกใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณแบบ Budget reconciliation ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน สำหรับการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า เฟดจะยังไม่ปรับแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ตลอดปีนี้ แต่อาจส่งสัญญาณเกี่ยวกับการหารือเกี่ยวกับแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) และอาจมีการประกาศแผนดังกล่าวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ส่งสัญญาณยังไม่ปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในไตรมาสที่ 3 ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร จนถึงเดือนมีนาคมปี 2565 ในการประชุมครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2564 เป็น 4.6% (เดิมคาด 4.0%) พร้อมปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2564 สู่ระดับ 1.9% (จาก 1.5%) โดยในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% และ 1.4% ตามลำดับ ยังห่างจากเป้าหมายของ ECB ที่ 2.0%
แม้ ECB จะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของยูโรโซน แต่ประธาน ECB ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในไตรมาสที่ 3 โดยระบุว่าการปรับสู่นโยบายการเงินแบบเข้มงวดถือว่าเร็วเกินไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB อาจทยอยปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์รายสัปดาห์ตามโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างน้อยจนถึงปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: