ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 31.00-31.50 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดรับรู้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่3 ไปมากแล้ว ขณะที่เงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียแข็งค่า นำโดยเงินดอลลาร์ไต้หวันและเงินหยวน จากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เรายังคงประเมินว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าจากทั้งปัจจัยในและต่างประเทศ
เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจยังไม่ลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) เร็วอย่างที่ตลาดกังวล ตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อปัจจัยดังกล่าว เมื่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้ถึง 2 เดือนติดต่อกัน ประกอบกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะเร่งตัวขึ้นสูงถึง 5.0%YoY ในเดือนพฤษภาคม
แต่แรงผลักดันสำคัญกลับมาจากราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมือง จึงตอกย้ำจุดยืนของเฟดที่มองว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว ปัจจัยนี้จึงมีแนวโน้มทำให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องติดตามพัฒนาของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
แนวโน้มการค้าโลกที่ฟื้นตัวตามการเปิดเมืองสนับสนุนค่าเงินในเอเชีย เรามองว่า เงินหยวนเป็นหนึ่งในค่าเงินที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตและการส่งออกที่สำคัญของโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ก่อนประเทศอื่นๆ จึงทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ และผลักดันให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียแข็งค่าตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าเงินของประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน
มาตรการด้านค่าเงินของจีนอาจเพียงชะลอการแข็งค่าของเงินหยวนในระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้เงินหยวนกลับมาอ่อนค่า ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการจีนเริ่มเคลื่อนไหว หลังจากเงินหยวนแข็งค่าอย่างรวดเร็วกว่า 11.2% จากกลางปี 2020 มาอยู่ที่ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 3 ปี โดยธนาคารกลางของจีนประกาศปรับขึ้นสัดส่วนเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ (Foreign exchange required reserve ratio) จาก 5% มาอยู่ที่ 7% และสนับสนุนให้คนจีนไปลงทุนทางการเงินในต่างประเทศเพื่อลดการแข็งค่าของเงินหยวน
แต่ขณะเดียวกันจีนยังคงต้องการผลักดันนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน และสนับสนุนให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล ดังนั้น เราจึงมองว่า ทางการจีนจะไม่ผลักดันมาตรการที่เข้มงวดจนเปลี่ยนทิศทางของเงินหยวนในระยะต่อไป
การกลับมาเปิดประเทศของไทยจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นต่อเงินบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวในระดับสูง แม้เราจะประเมิน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปีนี้จะน้อยเพียงประมาณ 5 แสนคน แต่รายได้ที่เริ่มกลับเข้าประเทศจะเป็นปัจจัยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัด ควบคู่กับแนวโน้มการส่งออกที่ไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลกด้วย ดังนั้น เราจึงประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปี และสนับสนุนเงินบาทให้แข็งค่าต่อไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: