ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งที่ 4 ของปี 2564 เมื่อ 23 มิ.ย. กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงมาเป็นการขยายตัวที่ 1.8% ใกล้เคียงกับที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์( SCB EIC) ประเมินไว้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 1.9%
กนง.ยังส่งสัญญาณเศรษฐกิจพร้อมส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึงจากผลกระทบของการระบาดระลอก 3 โดยโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์
“กนง. ประเมินว่า สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม ซึ่งความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่”
EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2564 และปี 2565 แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อไทยจะมีสัญญาณเร่งตัวขึ้น แต่ EIC ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ราว 1.3% ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3%
อย่างไรก็ดี สภาพคล่องในระบบที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง จะยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ ธปท. ต้องเร่งแก้ไข ซึ่ง EIC มองว่า ความสำเร็จของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับการติดตามปัญหาและอุปสรรคเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ EIC มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีโอกาสปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยที่คาดว่าจะมีมากขึ้น
ด้านเงินบาทอาจยังเผชิญกับแรงกดดันด้านอ่อนค่าในไตรมาสที่ 3 ได้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มชะลอลงในช่วงปลายปี EIC จึงคงประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2021 ที่กรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: