อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์-มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.65 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกในขณะนี้ อาจกดดันให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกังวลว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าใกล้จุด Peak และเศรษฐกิจอาจเริ่มชะลอตัวลงได้ พร้อมกันนั้น โมเมนตัมการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงก็ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อผู้เล่นในตลาด
ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่ม Cyclical กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวลดลง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.86% หลังจากดัชนีเพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่วันก่อน ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นฝั่งยุโรป ล้วนปรับตัวลงหนัก กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.13% ซึ่งมาจากแรงเทขายหุ้นในธีม Cyclical ไม่ว่าจะเป็น หุ้นสินค้าแบรนด์เนม (Kering -3.37%, Louis Vuitton -3.21%, L’Oreal -3.05%) หุ้นกลุ่มการเงิน (Intesa Sanpaolo -2.93%, BNP Paribas -2.86%) รวมถึง หุ้นกลุ่ม Industrial อย่าง หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Volkswagen -2.89%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมทั้งความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลง ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงย่อตัวลงต่อเนื่องกว่า 7bps สู่ระดับ 1.25% ก่อนที่จะรีบาวด์กลับสู่ระดับ 1.30% หลังมีผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไร (Take Profits on Bond rally) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบใกล้ระดับ 1.40% เนื่องจากตลาดการเงินยังถูกกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทว่า หากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จนเฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เราก็คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นได้ โดยมองว่า ณ สิ้นปี 2021 อาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ใกล้ระดับ 1.75%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.37 จุด ส่งผลให้ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 1.185 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วน เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็พลิกกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 109.9 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงยังได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 รวมถึงอัตราการแจกจ่ายวัคซีน ทั่วโลก หลังการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งในฝั่งไทย ตลาดจะรอจับตา แนวโน้มการประกาศใช้มาตรการ Lockdown รอบใหม่ ว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน และมาตรการ Lockdown จะสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้หรือไม่
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย โดย สถานการณ์การระบาดในไทยมีแนวโน้มเข้าสู่จุดวิกฤติ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
อย่างไรก็ดี ควรติดตามการประกาศใช้มาตรการ Lockdown ระลอกใหม่ รวมถึงแผนการรับมือการระบาดของรัฐบาลว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เพราะว่า มาตรการควบคุม เริ่มสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดการเงินก็พร้อมจะกลับมาอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจเป็นจุดกลับตัวของเงินบาท จากเทรนด์อ่อนค่า มาเป็น เทรนด์แข็งค่าขึ้นได้
อนึ่ง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบๆ 15 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ เช้านี้ (9 ก.ค.) เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปที่ระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบๆ 15 เดือน ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 32.69-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเร่งตัวขึ้น และทางการไทยต้องมีการยกระดับมาตรการสกัดและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งตลาดรอติดตามผลการพิจารณาของที่ประชุม ศบค. ในช่วงเช้าวันนี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สัญญาณการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญจะอยู่ที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของจีน