เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตลาดทุนไทยไม่น้อย เมื่อมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเตรียมพิจารณาจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของ นักลงทุนรายย่อย ที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.11% จากยอดธุรกรรม หลังจากมีการยกเว้นตั้งแต่ปี 2534
ล่าสุด นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรออกมาระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่ได้มอบนโยบายมาที่กรมสรรพากร เชื่อว่า ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบด้านและคงไม่นำมาบังคับใช้เร็วๆ นี้
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระแสข่าวแนวคิดการปฏิรูปภาษีซื้อขายหลักทรัพย์คาดว่า มาจากสาเหตุที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายและขาดดุล ทำให้มีการสั่งทบทวนในส่วนของภาษีซื้อขายหลักทรัพย์
ซึ่งในไทยและต่างประเทศมีการจัดเก็บหลายรูปแบบ ทั้งค่าธรรมเนียม ภาษีจากค่านายหน้า (คอมมิชชั่น) ภาษีจากเงินปันผลและภาษีจากกำไรการซื้อขายหุ้น แต่ไทยได้ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.11% จริง จะส่งผลให้นักลงทุนมีต้นทุนที่สูงขึ้นเท่าตัว จากที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์อยู่แล้วที่ 0.05-0.15% และยังทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลง
จากปัจจุบันไม่มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีธุรกิจตอบรับกระแสการลงทุนโลกอยู่แล้ว แม้สภาพคล่องยังสูงก็ตาม และหากจัดเก็บทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ จะยิ่งทำให้การจูงใจเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยลดน้อยลงไปอีก
“มองว่า ไม่น่าจะมีการจัดเก็บภาษี เพราะขั้นตอนระบบที่เกี่ยวข้องหรือการเก็บข้อมูลต้องมีการดำเนินการที่ค่อนข้างยุ่งยาก อีกทั้งหากมองในมุมนักลงทุน การจ่ายเพิ่มที่ 0.11% ถือเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นถึงเท่าตัวและเยอะมาก"นายกิจพณกล่าว
ทั้งนี้ ต้นทุนที่สูงขึ้นจะลดทอนความน่าสนใจลงทุนลงไปอีก หากลดอัตราจัดเก็บเหลือ 0.01% ยังพอเป็นไปได้มากกว่า และอีกทางมองว่า เป็นการสกัดการเก็งกำไรระยะสั้นได้ แต่มูลค่าซื้อขายจะลดลงตามแน่นอน
นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัดกล่าวว่า ไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ได้ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้ หากต้องการขยายฐานภาษี
ทั้งนี้ หากกลับจัดเก็บภาษีจริงคาดว่า จะส่งผลให้รัฐมีรายได้เพิ่มปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท หากมูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 2-3 ล้านบาทต่อเดือน หากเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้นักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี
“เบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ช่วงครึ่งแรกปี 64 รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าซื้อขายรวมที่ 11.3 ล้านล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีตพบว่า ส่วนใหญ่แล้ว รัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 10,000 ล้านบาทต่อปี” นายชาญชัยกล่าว
ขณะเดียวกัน ขีดความสามารถในการแข่งขันจะลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการซื้อขายลดลง จากต้นทุนการทำธุรกรรมที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง
โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร รวมถึงมูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง จากมูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า หากมีการจัดเก็บภาษีจริง จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน เพราะจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายสูงขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีของตลาดทุนทั่วโลกมีหลายประเภท เช่น Transaction tax, Dividend tax, Capital gains tax ขึ้นกับสภาวะและสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564