อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.66 บาท/ดอลลาร์

14 ก.ค. 2564 | 00:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 09:17 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้าย -ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและทิศทางที่ผันผวนแนะป้องกันความเสี่ยง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.66 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย โดย เราประเมินว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้ายลง ซึ่งปัญหาการระบาดจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อเงินบาทฝั่งอ่อนค่า อย่าง เงินดอลลาร์ที่พลิกกลับมาแข็งค่าหนักจากรายงานเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นกว่าคาด อาจทยอยลดลงไปได้ หากถ้อยแถลงของประธานเฟดยืนกรานว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และเฟดจะยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งภาพดังกล่าว อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงได้ และรอบการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์อาจจบลงได้ หากตลาดประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปไม่ได้น่ากังวล ซึ่งอาจจะต้องรอติดตามข้อมูลการระบาดในยุโรปในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ถึงจะมีความชัดเจนในแนวโน้มดังกล่าว

 

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ผันผวน ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.75 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.4% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.0% ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจเร่งตัวขึ้นต่อและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จนทำให้เฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดได้ ซึ่งภาพดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับฐานลง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลงราว -0.35% ส่วนในฝั่งหุ้นเทคฯ โดยรวมก็ปรับตัวลง หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5bps สู่ระดับ 1.41% หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -0.38%

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็ทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง โดยเฉพาะหุ้นในธีม Cylical อย่าง กลุ่มการเงิน หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี นับตั้งแต่ต้นปี (Santander -1.77%, ING -1.62%, Volkswagen -1.49%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังมีแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคฯ (Prosus +2.2%, ASML +1.34%, SAP +1.04%) อยู่บ้างจากความหวังผลกำไรหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกราว +0.03%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ตลาดเผชิญความผันผวนหนัก หลังรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลงในช่วงแรก หลังจากที่มีรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนอาจกังวลที่จะเพิ่มสถานะ Short บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลการประมูลบอนด์ 30ปี สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด (ความต้องการน้อย) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ และบางส่วนก็เริ่มกลับมา Short บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 5bps สู่ระดับ 1.41%


 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วกว่าคาด หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.80 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.177 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินปอนด์ (GBP) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.380 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้นนั้นยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านใกล้ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Semi-Annual Testimony) ซึ่งอาจหนุนให้ตลาดการเงินคลายกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ รวมถึงคลายกังวลโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด หากประธานเฟดจะเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก

 

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบรรดาจดทะเบียน อาทิ Bank of America, Morgan Stanley, United Health เป็นต้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (14 ก.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 32.64-32.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังมีปัจจัยลบต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดในเดือนมิ.ย. ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า อาจเป็นสัญญาณที่กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิดในประเทศ และถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ของนายเจอโรม พาวเวลประธานเฟด