ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงไทยให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม(ESG) ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกมิติที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากมาตรฐานใหม่ๆที่จะเข้มขึ้น และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับอาหารหรือ Food Traceability ซึ่งเป็นเทรนด์ในยุคNew Normal ผู้บริโภคจะให้ความความสำคัญมากในเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยของการใช้ชีวิต รวมถึงด้านอาหาร โดยเฉพาะต่างประเทศมีความคาดหวังสูงเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารซึ่งต้องมีที่มาที่ไป โดยในอีก 2-3ปีข้างหน้าประเทศในสหรัฐและยุโรปจะมีมาตรฐานใหม่ๆออกมาเกี่ยวกับ Food Traceability เช่น Farm to Forkในยุโรปซึ่งเป็นนโยบายให้ผู้ประกอบการระบุรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงโต๊ะอาหารและผู้บริโภคสามารถตรวจสอบทุกกระบวนการตามที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้ง ESG มาตรฐานแรงงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้กระทั่งไวรัสโควิดเป็นปัจจัยเร่งเรื่องความปลอดภัยของอาหารปนปื้อน ดังนั้น Traceability จะเป็นเครื่องมือตอบโจทย์โลกที่ให้ความสำคัญกับESGและGreen Economy
ในแง่ของการปรับตัวต้องให้มั่นใจว่าบริษัท หรือธุรกิจอาหารส่งออกได้มีการติดตามข่าวสารและปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะแถบยุโรป หรือสหรัฐซึ่งเป็นลูกค้าหลักของไทยจะเปลี่ยนแปลงกฎต่างๆค่อนข้างมาในปี 2565 -2566 แนวโน้มความปลอดภัย มาตรฐานอาหาร จะกระทบภาคส่งออกเป็นระยะซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรการ และยังมีปัจจัยความท้าทายที่จะเข้ามาในรูปแบบของมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยได้หากเตรียมตัวไม่ทัน
“ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบทางการค้าที่ออกมาใหม่ๆ อาทิ นโยบาย Farm to Fork ของสหภาพยุโรป ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากฟาร์มไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตและขนส่งอาหารที่มีความโปร่งใส ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารโดยการบังคับติดฉลากเพื่อแสดงข้อมูลสินค้า เช่น โภชนาการ แหล่งที่มา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ หรือมาตรฐานเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาอาหารจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเอกสารมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566”
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่อง Traceability อย่างจริงจังมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ประมง อาหารสัตว์ และสินค้าผักและผลไม้ โดยสินค้าเหล่านี้มักถูกจับตาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้า และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับอาหารค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ในระยะหลังคู่ค้าสำคัญอย่างจีนก็เข้มงวดในมาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งนี้ สินค้า 4 กลุ่มหลักมีมูลค่าการส่งออกรวมกันถึง 159,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 16% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยซึ่งอยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี
นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการควรเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นตลอดห่วงโซ่การผลิตในรูปแบบดิจิทัลเพื่อช่วยให้การตรวจสอบย้อนกลับอาหารทำได้ง่ายขึ้น อาทิ ข้อมูลแหล่งผลิตฟาร์มและเพาะเลี้ยง ชนิดพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ ปริมาณการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ข้อมูลการแปรรูป
สำหรับตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร ได้แก่ การใช้ RFID ,IoT ,QR Code และ Blockchain ในการเก็บข้อมูลแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากฉลากสินค้าในรูปแบบ QR Code อีกทั้งในกรณีที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ยังช่วยลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อ ทั้งนี้ แห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่ให้การรับรองมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานอาหาร เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสถาบันอาหาร