6 แบงก์รัฐ พักหนี้ 2 เดือน ให้ลูกหนี้ที่ได้รับกระทบจากล็อกดาวน์

15 ก.ค. 2564 | 06:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 17:34 น.

สมาคมธนาคารรัฐ ออกมาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อย่างน้อย 2 เดือนให้กับลูกหนี้ ทั้งที่เป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งทางตรงทาอ้อม เริ่มงวดก.ค.นี้

จากการที่ภาครัฐได้ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ(ล็อกดาวน์) ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง

 

โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจและลูกหนี้ที่มีฐานะการเงินเปราะบาง มาตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 ระลอกก่อน และได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาด้านรายได้อย่างเร่งด่วนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

 

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) และธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)

 

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการ พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนสิงหาคม 2564 แล้วแต่กรณี

 

ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

 

ขณะเดียวกัน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จะร่วมกันเร่งรัดและผลักดันการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด

 

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมคือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

 

การให้ความช่วยเหลือตามแนวทางข้างต้น ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564

 

ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว