นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์(Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 12กรกฎาคม 2564 โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ระบาดโควิดและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มยังคงจะอยู่ในสถานการนี้อีกระยะ โดยธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่านโยบายที่มีอยู่เพียงพอหรือต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ การผสมผสานระหว่างมาตรการทางการเงิน ทางการคลัง มาตรการด้านสาธารณสุข ควรจะทำอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์รวมทั้ง ความร่วมมือของประชาชนทุกคนในการป้องกันและลดการแพร่ระบาด เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผ่านพ้นวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจไปได้โดยเร็วอย่างยั่งยืน
ต่อข้อถามมาตรการกึ่งล็อคดาวน์และผลกระทบเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตานั้น ธปท.จะติดตามประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมบ้าง
“Lockdownเพิ่งเริ่มในวันนี้และต่อเนื่องอีก 14วันซึ่งธปท.จะติดตามระยะสั้นและระยะยาวและดูว่าภายหลังการล็อคดาวน์แล้วจะมีมาตรการอะไรต่อไปหรือสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามดูตามสถานการณ์ ส่วนเรื่องสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงซึ่งมีความเสี่ยงที่การควบคุมการระบาดได้ช้าลงและได้ภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงตามมุมมองของบอรด์กนง.”
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า สมมติฐานการประเมินเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้รวมปัจจัยการระบาดของสายพันธุ์เดลตาว่ามีผลกระทบในระดับหนึ่ง หากมีความยืดเยื้อ ระบาดรุนแรงและขยายวงกว้างมีโอกาสมากที่เศรษฐกิจไทยจะไม่อยู่ในกรณีฐาน(Baseline) มองไปข้างหน้ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลักๆคือ ความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจต่างๆที่ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน เช่น ตลาดแรงงาน มีความเปราะบาง ธปท.ยังติดตามสัญญาณผู้ว่างงานระยะยาวขึ้นอย่างใกล้ชิดซึ่งกลุ่มนี้อาจจะเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานช้ากว่าอดีต (เทียบ 4เหตุการณ์: วิกฤติเศรษฐกิจโลก น้ำท่วม การเมือง การระบาดของโควิด-19) ซึ่งผลการจ้างงานลูกจ้างเอกชน นอกภาคเกษตรผลกระทบลึกกว่า ซึ่งอาจจะเห็นการฟื้นตัวในลักษณะ W- shapedในระยะต่อไป ส่วนภาคบริการปรับลดการจ้างลง เป็นพาร์ทไทม์มากขึ้น รายได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องฐานะการเงินครัวเรือนที่เปราะบาง เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มการบริโภคซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้น อัตราดอกเบี้นสูง กลุ่มอาชีพอิสระมีปัญหาเรื่องรายได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาด้านการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว หรือการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยข้างนอก เช่น ขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ ค่าขนส่งแพง วัตถุดิบราคาสูงขึ้นรวมทั้งเหล็กกดดันต้นทุนและการผลิต
“ การประเมินBaselineเมื่อวันที่ 22มิถุนายนนั้นสายพันธ์เดลต้ายังไม่รุนแรงเท่านี้ ความรุนแรงของจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่สูงเท่านี้ เพราะฉะนั้น มีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะไม่อยู่ในBaseline โดยธปท.ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็น 1.8% ณวันนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากปัจจัยลบที่เห็นความไม่แน่นอนของการะบาด ความยืดเยื้อ แต่ถ้ามีมาตรการเพิ่มเติมและมากกว่าที่คาดก็จะเป็นปัจจัยบวกที่มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน ส่วนการเริ่มมาตรการล็อคดาวน์อาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้ จึงขอเวลาประเมินมาตรการที่ออกมาและผลกระทบ”
ในแง่ของการฉีดวัคซีนนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ยังได้ประเมินปริมาณการฉีดวัคซีนประมาณ 3-4แสนโดสต่อวันซึ่งขึ้นอยู่กับซัพพลายของวัคซีน หรือปัจจัยอื่นที่น่าจะส่งผลกระทบ เช่น ฐานะการเงินของครัวเรือน ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเม็ดเงินจากมาตรการทางการคลังและนโยบายการเปิดประเทศด้วย โดยยังมีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นในช่วงนี้
ต่อข้อถามการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทนั้น ธปท.มองว่า ปีนี้ยังมี พ.ร.ก.เดิมที่ยังเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง โดยมองว่าปีนี้การเบิกจ่าย ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทราว 100,000ล้านบาท ส่วนที่เหลือน่าจะเบิกจ่ายอีก 2แสนล้านบาทในปี 2565 แต่ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่พ.ร.ก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทจะถูกนำมาใช้ในปีนี้
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาวะการเงินของไทย โดยรวมยังผ่อนคลาย ไม่ว่าตลาดสินเชื่อ ตลาดพันธบัตร ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยตลาดสินเชื่อ ต้นทุนการลงทุนผ่านสินเชื่อปล่อยใหม่ ทยอยปรับลดลง ในแง่ปริมาณพบว่า ภาคธุรกิจระดมทุนได้ต่อเนื่อง แม้ภาพรวมการลงทุนชะลอลงจากช่วงไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตได้ดีจะเชื่อมโยงกับภาคการผลิตเพื่อส่งออกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อซอฟต์โลน หากมองไปข้างหน้าผลจากการระบาดระลอก 3 ทำให้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นแต่มีสินเชื่อฟื้นฟูช่วยเติมเงิน
ด้านตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) ระยะสั้นทรงตัวอยู่ระดับต่ำใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนยีลด์ระยะยาวปรับลดลงตามพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่ยีลด์ระยะ 5ปีปรับลดลงเร็วกว่าระยะอื่น หลังจากแผนการออกตราสารหนี้ระยะกลางน้อยกว่าตลาดคาด สำหรับส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเครดิตเรตติ้งที่ดี (AAA ) ปรับลดลงมาต่อเนื่องใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว สะท้อนสภาพคล่องในระบบและSearch for Yield ของนักลงทุน แต่บริษัทเตรียมการออกตราสารหนี้เพื่อชำระหนี้เดิมในระยะข้างหน้าได้โดยยังไม่มีประเด็น ขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์และสกุลเงินในภุมิภาคยังสะท้อนทิศทางอ่อนค่าและแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัด ถ้านักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาในปี 2564 มีแนวโน้มที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับลดลงค่อนข้างมากจากช่วงก่อนหน้า ระยะสั้นดอลลาร์สหรัฐยังมีความผันผวนมากขึ้น ตามตลาดคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยและQE Tapering แต่ระยะยาวดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยธปท.มองเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดระลอกใหม่ และฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด โจทย์สำคัญ คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพรวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดให้ทันการณ์และเพียงพอ เพราะหากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มองว่า ต้องเร่งดำเนินนโยบายที่ออกไปแล้ว ควบคู่กันทุกภาคส่วน ไม่ว่านโยบายการเงิน การคลังที่ออกไปแล้ว ซึ่งต้องเร่งในระยะสั้น เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง และน้ำหนักของนโยบายการเงินช่วงนี้เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
“ปัจจัยหลักของการดำเนินนโยบายการเงินเน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ การกระจายสินเชื่อมีส่วนสำคัญในการทำให้สภาพคล่องไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบและกนง.ยังติดตามสถานการณ์ หากมีเหตุการณ์รุนแรงก็พร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเกิดประสิทธิผลสูงสุด”
อย่างไรก็ตาม 6เดือนต่อจากนี้มีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งผลักดันทุกมาตรการต่างๆ ซึ่งระยะสั้นจะเป็นมาตรการเยียวยาและเติมรายได้ เป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับด้านแรงงาน และมาตรการเติมเงินด้านอื่นๆ ก็ยังจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงควบคุมการระบาดไม่ได้ การเติมสภาพคล่องใหม่ในแง่ของมาตรการการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟู การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้เดิม โดยเห็นได้จากสองส่วน คือ การเติมเงินใหม่ผ่านมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินสินเชื่อต่างๆ (แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์) ส่วนหนึ่งคือ เรื่องลดภาระของหนี้เดิม ส่วนมาตรการทางการเงินจะเป็นตัวช่วยทำให้เรื่องดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้น