นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลกประจำประเทศไทย ถึงกรณีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่รุนแรงขณะนี้หรือไม่นั้น โดยระบุว่า ขณะนี้แม้เงินกู้ จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจะใกล้หมดแล้ว แต่ได้รวมงบประมาณในส่วนมาตรการที่จะดำเนินการไปถึงปลายปี รวมทั้งมาตรการที่ออกมาล่าสุดแล้ว ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่นำมาใช้ได้ ซึ่งในการออกมาตรการจะต้องสอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขด้วยว่ามีการฉีดวัคซีนทั่วถึงแล้วแค่ไหน
“หากกรณีเลวร้าย และจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มจริงๆ ก็ยังมีช่องว่างให้สามารถทำได้ ซึ่งอาจต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งธนาคารโลก และ IMF ได้แนะนำว่าสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ถ้าจำเป็น ดังนั้น หากปีนี้มีการกู้มากสุดตามแผนที่วางไว้ หนี้สาธารณะจะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ของจีดีพี แต่หากต้องกู้เพิ่มก็สามารถขยายกรอบการกู้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะกู้เพิ่ม ก็ต้องดูเรื่องภาษี เพราะถือเป็นผู้เล่นสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจด้วย” น.ส.กุลยา กล่าว
น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นมาตรการการคลังช่วงนี้จึงเน้นลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่รวดเร็วและครอบคลุม ซึ่งในครั้งนี้ตั้งเป้าครอบคลุมประชาชน 51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วงที่ผ่านมาที่ครอบคลุม 42 ล้านคน อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการ คนละครึ่ง และ ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นมาตรการที่ออกมาก่อนจะมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยขณะนั้นคาดว่าจากการดำเนินมาตรการจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 400,000 ล้านบาท ยอมรับว่าจากสถานการณ์ขณะนี้อาจมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพียงครึ่งจากที่คาดไว้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังคงเดินหน้า แม้มีการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด เนื่องจากในจังหวัดอื่นยังดำเนินกิจกรรมได้ และระยะเวลาโครงการก็สิ้นสุดถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น คลังก็จะเริ่มเน้นไปที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ ยอมรับว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับการกระทบ ขณะเดียวกันเครื่องยนต์ของภาคเอกชนไม่ทำงาน มาตรการการคลังจึงมีความสำคัญ หากภาคการคลังไม่มีเสถียรภาพก็จะไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงใช้นโยบายการคลังเข้ามาเป็นตัวหลัก ขณะเดียวกันคลังก็ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงในขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินนโยบาย
“ปัจจุบันฐานะการคลังยังเพียงพอที่จะดำเนินนโยบาย แต่ระยะสั้น และปานกลาง ก็ต้องมาดูเรื่องการใช้งบ เช่น การกู้เงินต้องรัดกุมมากขึ้นภายใต้ต้นทุน เครื่องมือที่เหมาะสม และภายใต้วินัยการเงินการคลัง และจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพฐานะการคลัง ทั้งรายได้ หนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถรับมือวิกฤตในอนาคตได้” น.ส.กุลยา กล่าว
ทั้งนี้ น.ส. กุลยา กล่าวด้วยว่า หากไม่มีเรื่องข้อจำกัดทางด้านการคลัง คาดว่าเม็ดเงินที่ให้แต่ละโครงการจะได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องสำคัญที่ต้องทำ คือ การทำฐานข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเราไม่ทิ้งกัน จะพบปัญหามาก เนื่องจากคลังไม่มีฐานข้อมูล แต่หลังจากนั้นเมื่อโครงการอื่นมีการลงทะเบียน ก็สามารถใช้ประโยขน์จากฐานข้อมูลได้มากขึ้น แต่ยังต้องมีการพัฒนาข้อมูลอีกมาก เพื่อให้ครอบคลุม เนื่องจากยังมีประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องนี้
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังได้กำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง โดยเน้นเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่าน 3 R ได้แก่ Reform คือ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เน้นโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บโดยใช้เทคโนโลยี Resafe หรือ การจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในการสนับสนุนให้เกิดโครงการใช้จ่ายต่อคนในพื้นที่ และ Resilience คือ การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
ขณะที่ระยะยาว เมื่อเศรษฐกอจขยายตัวได้ คลังมีเป้าหมายในการปรับลดขนาดการขาดดุลการคลัง และทำให้เกิดความสมดุลทางการคลังมากที่สุด รวมทั้งการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาครัฐ มีรายได้เพียงพอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดจบลง รวมทั้งรองรับความเสี่ยงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเสี่ยงรอบด้าน ที่จะส่งผลต่อรายจ่ายของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น