‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ทรงอิทธิพล ขึ้นแท่นซุปเปอร์ เพาเวอร์ฟูล

21 ก.ค. 2564 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 13:41 น.

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของไทย ตั้งเป้าให้ GULF เติบโต ปีละ 20 % สวนวิกฤติโควิดไล่ซื้อกิจการ จนถูกขนานนาม “ซุปเปอร์ เพาเวอร์ฟูล” ชี้เพื่อกระจายความเสี่ยงในธุรกิจไฟฟ้า และหาโอกาสใหม่ๆ เน้นลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำมาต่อยอด

แค่เพียง  4 ปี หลังการนำบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 อันดับเศรษฐีหุ้นของนายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF พุ่งพรวด

 

จากที่เคยอยู่ในอันกับ 15 ด้วยมูลค่าหุ้น 12,183 ล้านบาท ในปี 2560 จากการถือหุ้นใน GULF 4,171.08 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 35.55%  ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าสูงถึง 138,688 ล้านบาท

 

ในอนาคตมูลค่าหุ้นยังจะเติบโตอีก ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ในปีนี้จะขึ้นไปถึง 7,903 เมกะวัตต์ และในปี 2570 เพิ่มเป็น 14,304 เมกะวัตต์ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ส่งผลให้ทุกย่างก้าวของนายสารัชถ์ถูกจับตา แม้ว่าด้วยบุคลิกส่วนตัวแล้ว นายสารัชถ์จะเป็นคนเงียบๆ ชอบทำงานวางกลยุทธ์อยู่เบื้องหลัง มากกว่าออกหน้าสื่อ ทำให้แม้ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาปีกว่าๆ กระทบกับทุกภาคส่วน แต่คนที่เดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องกลับเป็น GULF ยักษ์ใหญ่ด้านวงการพลังงานของไทย

สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF

ภายใต้วิธีคิดและบริหารจัดการของนายสารัชถ์ ที่ดูเหมือนว่า จะไม่สะทกสะท้านกับวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น เพราะไล่ซื้อหุ้นในธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นว่าเล่น ถึงขนาดคนในแวดวงธุรกิจขนานนามให้นายสารัชถ์เป็น “ซุปเปอร์ เพาเวอร์ฟูล” หรือผู้มีอำนาจในการเข้าซื้อกิจการ หากเห็นว่าธุรกิจนั้นๆ มีอนาคต

นายสารัชถ์ได้ประกาศเป้าหมายว่า ต้องการให้บริษัทเติบโตปีละ 20% จากการแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าที่นับวันใกล้ถึงจุดอิ่มตัว

 

ทำให้ต้องกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ อย่างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นการสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาลไทยและยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ

 

ล่าสุดยังอยู่ระหว่างการทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือ INTUCH ในราคาหุ้นละ 65 บาท จำนวนไม่เกิน 2,599.63 ล้านหุ้น หรือ 81.07% ของหุ้นทั้งหมดของ INTUCH คิดเป็นเงินรวมราว 1.69 แสนล้านบาท จากปัจจุบันถือครองหุ้นอยู่ 18.93%

 

รวมถึงทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ด้วย จากมุมมองของนายสารัชถ์ที่เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรับการลงทุน มีระบบโทรคมนาคมที่สามารถรองรับ 5 จี หรือไปถึง 6 จี ได้ เพราะการเปลี่ยนผันไปสู่ยุคดิจิทัลและการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

แถมฮือฮาไม่น้อยกับการปูทางเข้าสู่ธุรกิจการเกษตร ที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัท โลคัล บาวติ กรุ๊ป (Local Bounti Group) บริษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการเกษตรภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุม การควบกิจการระหว่าง Local Bounti Corp และ Leo Holdings III Corp จะมีมูลค่ารวมกันสูงประมาณ 35,000 ล้านบาท

 

ในการสนับสนุนการควบกิจการครั้งนี้ Leo Holdings III Corp ได้ระดมทุน 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการลงทุนส่วนตัวในหุ้นสาธารณะ หรือ PIPE ซึ่งมีนักลงทุนเอกชนเข้าร่วมหลายราย หนึ่งในนั้นคือ นักลงทุนชาวไทยอย่างนายสารัชถ์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับคาร์กิลล์ อิงค์ (Cargill Inc) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเกษตรกรรมในสหรัฐ

 

นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนธุรกิจเกษตรครั้งนี้ เป็นการลงทุนส่วนตัวของนายสารัชถ์ เป็นการที่ไปสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งนายสารัชถ์เองอาจจะนำระบบเทคโนโลยีมาต่อยอดหรือพัฒนาระบบเกษตร

สมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF

ในไทย เพราะนายสารัชถ์เห็นว่า ประชาชนฐานรากหรือรากหญ้าไม่เติบโตหรือสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิฐหรือ จีดีพี 

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับว่า การลงทุนในกิจการอื่นๆ ของ GULF เป็นการกระจายความเสี่ยง และนำกระแสเงินสดที่มีอยู่ไปใช้ทำอย่างอื่นเพื่อสร้างการเติบโต รวมถึงเพิ่มรายได้ในธุรกิจใหม่ ที่จะมีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด

"การที่ซื้อบริษัทที่มีอยู่แล้ว จะช่วยให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจหลักในระยะยาวจะเริ่มไม่โดดเด่น มูลค่าจะลดลง ดังนั้นจึงมีการมองหาการลงทุนธุรกิจอื่นนอกเหนือจากกลุ่มพลังงานที่มีการเติบโตที่ดีได้"นายกิจพณกล่าว 

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,696 วันที่ 15 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564