ดอกเบี้ยลม ดันกำไรธนาคารพาณิชย์ครึ่งปี 64 พุ่งเฉียด 27%

26 ก.ค. 2564 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 15:37 น.

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ประกาศกำไรไตรมาส 2 ปี 64 รวม 51,264.90 ล้านบาท ดีกว่าที่คาดการณ์ ผลจากตั้งสำรองลดลง รายได้ดอกเบี้ยยังโต แต่เป็นดอกเบี้ยลม ผลจากมาตรการพักชำระหนี้ธปท. กดเอ็นพีแอลที่แท้จริง ชี้การระบาดโควิด-19 ยังเป็นตัวชี้วัดผลประกอบการแบงก์

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงและยืดเยื้อจนรัฐบาลต้องประกาศพื้นที่คุมเข้มสูงสุด (ล็อกดาวน์) กระทบต่อรายได้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

 

แต่จากการประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งเป็นกลุ่มแรกสำหรับการแจ้งผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ไทยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

 

พบว่า ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง มีกำไรสุทธิ ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 51,264.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,956.13 ล้านบาท หรือ 69.14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 30,308.77 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 4,633.78 ล้านบาท หรือ 9.93% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2564 อยู่ที่ 46,631.12 ล้านบาท

 

แต่หากตัดรายการพิเศษคือ กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (BAY) ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะลดลง 5,366.22 ล้านบาท หรือ 13%

 

เมื่อรวมงวด 6 เดือนหรือครึ่งปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 97,896.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,749.59 ล้านบาท หรือ 26.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 77,146.46 ล้านบาท

ผลประกอบการงวดครึ่งปี  2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์

ธนาคารที่มีผลกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 มากที่สุดคือ BAY อยู่ที่ 14,542.79 ล้านบาท, กสิกรไทย (KBANK) อยู่ที่ 8,894.07 ล้านบาท และ ไทยพาณิชย์ (SCB) อยู่ที่ 8,814.54 ล้านบาท  ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 2 แห่ง คือ ธนาคาร ทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (ttb) ลดลง 560.83 ล้านบาท และบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) ลดลง 23.36 ล้านบาท

 

ขณะที่ งวด 6 เดือน ปี 2564  ธนาคารที่มีกำไรสุทธิมากที่สุดคือ BAY อยู่ที่ 21,047.65 ล้านบาท, KBANK อยู่ที่ 19,520.94 ล้านบาท และ SCB อยู่ที่ 18,902.34 ล้านบาท ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 3 แห่ง คือ ttb  ลดลง 1,942.33 ล้านบาท, LHFG ลดลง 291.64 ล้านบาท และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) ลดลง 431.11 ล้านบาท

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb Analytics เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยบวกที่มีผลต่อกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ทั้งไตรมาส 2 และงวดครึ่งปี มาจากการตั้งสำรองน้อยลงจากเดิมที่ตั้งสำรองแล้ว เพราะปีก่อนทั้งปีระบบธนาคารพาณิชย์กันสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อย่างต่อเนื่องจนกันสำรองฯอยู่ในระดับสูง ทำให้กำไรโตจากปีก่อน แต่หากเทียบไตรมาส 1 กำไรจะลดลง ซึ่งเป็นผลจากโควิด-19 ระลอกใหม่

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb Analytics

ขณะที่งวดครึ่งปีแรก รายได้ดอกเบี้ยยังเติบโต ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับจากลูกหนี้ จากมาตรการพักชำระหนี้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งแนวโน้มอาจจะปรับลดหรือไม่ได้รับ หากลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปต่อไม่ไหว ซึ่งต้องจับตามาตรการพักชำระหนี้และมาตรการช่วยเหลือระยะ 3 ของธปท.ว่า ลูกหนี้จะเข้ามามากน้อยเพียงไร

 

ส่วนรายได้จากค่าธรรมนียมจากกองทุนไตรมาส 2 ชะลอเล็กน้อยจากไตรมาสแรกเติบโตได้ดี ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันทรงตัว เพราะการขายประกันลูกค้ายากทำให้เหนื่อยขึ้น ยกเว้นประกันโควิด สำหรับรายได้จากธุรกิจเทรดไฟแนนซ์และปริวรรตยังเติบโตได้ดีซึ่งเป็นผลจากภาคส่งออกดีแต่มีสัดส่วนเล็ก

 

“รายได้ดอกเบี้ยดูโตเกินความเป็นจริง เพราะเป็นรายได้ดอกเบี้ยลม จากการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับที่ยังไม่ได้รับจริง ซึ่งต้องดูว่า ลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ต่อมีมากน้อยแค่ไหน หากมีมากส่วนของรายได้ดอกเบี้ยค้างรับจะหายไป รวมทั้งตอนนี้ NIM บันทึกดอกเบี้ยค้างรับไปด้วย ถ้าลูกหนี้พักชำระหนี้ต่อ จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกไว้หายไปเช่นกัน และครึ่งปีหลังธนาคารทั้งระบบจะกลับมาตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ตัวเลขกำไรหรืองบการเงินของแบงก์น่าห่วง”นายนริศกล่าว

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2564 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากลบกำไรพิเศษของ BAY ออก จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

 

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มองว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะสามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 3 นี้หรือไม่

ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 นี้ จะยังไม่เห็นตัวเลขเอ็นพีแอลที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงยังไม่มีการตั้งสำรอง โดยการตั้งสำรองจะเริ่มชัดเจนในไตรมาส 3 ตามผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการขยายระยะเวลามาตรการช่วยลูกหนี้ของธปท. ที่ยังคงมีต่อไปจนถึงปลายปี 2564 และอาจจะต่อมาตรการไปอีกหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขเอ็นพีแอลแท้จริงในปี 2565 เมื่อมาตรการของธปท.หมดลง เนื่องจากปัจจุบันเอ็นพีแอลถูกกดไว้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และธนาคารพาณิชย์ต้องทยอยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

 

“ความเสี่ยงของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหลัก โดยเฉพาะวัคซีนที่จะเริ่มเข้ามาในไตรมาส 3 หากเป็นไปตามแผน มีวัคซีนที่เยอะขึ้น เพิ่มยี่ห้อทางเลือกมากขึ้น จะทำให้คลายกังวล ไม่ต้องมีล็อกดาวน์อีก ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ และไม่กระทบกับเอ็นพีแอล จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบันยังมีราคาที่ถูกมาก ส่วนราคาหุ้นยังคงอยู่ในช่วงผันผวน แนะนำให้ถือรอ 6 เดือน”นายธนวัฒน์กล่าว 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,699 วันที่ 25 - 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564