เมื่อเวลา 19.00 น. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 5/2564 ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำล้นตลิ่ง บริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำหลากจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำ โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2564 โดย เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน สระแก้ว จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี เพชรบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และ เฝ้าระวังระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณห้วยแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำว้า อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน แม่น้ำยวม อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำเมย อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และลำน้ำแควน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลำน้ำยัง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
อย่างไรก็ตาม กอนช.ได้เตรียมความพร้อมรับมือ และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์