รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยตลท.ได้รายงานการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET และ mai ปี 2563 ว่า ณ สิ้นปี 2563 บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ที่มีสถานะการลงทุนในต่างประเทศมีจำนวนรวม 278 บริษัท มีจำนวนเท่ากับปีก่อนหน้า และคิดเป็น 37% ของบจ.ทั้งหมดในปี 2563 ทั้งนี้ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ SET จำนวน251 บริษัท และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 27 บริษัท ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการ(Services) มากที่สุด และภูมิภาคที่มีจำนวนบริษัทที่มีสถานะการลงทุนต่างประเทศในภาพรวมสูงสุดคือภูมิภาคอาเซียน โดยลงทุนมากที่สุดในประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ และเมียนมา
อย่างไรก็ตาม มูลค่าจากกิจกรรมการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ SET และmai ที่เกิดขึ้นในปี 2563 รวม 1.39 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.56 แสนล้านบาท หรือ 53% ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการลงทุนจากบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ SET รวม 1.37 แสนล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ mai รวม 2 พันล้านบาท โดยรวมสัดส่วนการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของทั้งสองตลาดคิดเป็น 9% ของมูลค่าเงินลงทุนของบจ.ทั้งหมดในปี 2563
ขณะที่ มูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศปี 2563 ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ SET คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.13 แสนล้านบาทและภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการลงทุนมากที่สุดคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ1.32 แสนล้านบาท หรือ 95% ของมูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศปี 2563 ซึ่งประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดคือ อินโดนีเซีย จากธุรกรรมการเข้าซื้อกิจการ PT Bank Permata ด้วยมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
สำหรับรายได้จากต่างประเทศของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ปี 2563 มีมูลค่ารวม 2.96 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าลดลงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับมูลค่ารายได้โดยรวมของจ. สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นประมาณ 26% โดยรายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มากจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET มูลค่าประมาณ 2.94 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน รายได้จากต่างประเทศในปี 2563 ของกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ SET มีมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 67% ของรายได้จากต่างประเทศทั้งหมดในปี 2563 และเมื่อพิจารณาตามภูมิภาคที่มาของรายได้ พบว่าบริษัทกว่าครึ่งไม่ระบุที่มาของแหล่งรายได้ให้ชัดเจน ทำให้รายได้มูลค่าราว 1.85 ล้านล้านบาท หรือ 60% ของรายได้รวม ไม่สามารถระบุภูมิภาคหรือประเทศแหล่งที่มาของรายได้ได้ แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีรายละเอียดแหล่งที่มาของรายได้ พบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนเป็นภูมิภาคที่บริษัทมีรายได้มากที่สุด คิดเป็น 4.86 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศที่สร้างรายได้สูงสุดคือประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์