ธปท.แนะรัฐกู้เพิ่ม1ล้านล้าน ไม่ห่วงแม้หนี้ต่อจีดีพีแตะ 70% ปี 67

16 ส.ค. 2564 | 08:27 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 16:10 น.

ธปท.เผยโควิดฉุดรายได้หาย 2.6ล้านล้านบาทใน 2ปี แนะกู้เพิ่ม 1ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 7%ของจีดีพี ขณะที่สัดส่วนหนี้ขยับพีก 70%ในปี 2567 แต่จะลดลง ได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น6หมื่นล้านถ้าเพิ่มVAT1%

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าธปท.เผยโควิดฉุดรายได้หาย 2.6ล้านล้านบาทใน 2ปีระหว่างปี 63-65 เม็ดเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอ รัฐจำเป็นต้องกระตุ้นทางการคลัง  แนะกู้เพิ่ม 1ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 7%ของจีดีพี ขณะที่สัดส่วนหนี้ขยับพีก 70%ในปี 2567 พร้อมจัดทำแผนลดหนี้ลง ให้ชัดเจน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นุ6หมื่นล้านถ้าเพิ่มVAT 1%  ประเมินสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2574 จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%

ธปท.แนะรัฐกู้เพิ่ม1ล้านล้าน ไม่ห่วงแม้หนี้ต่อจีดีพีแตะ 70% ปี 67

เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2564  นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน  “ Meet the Press” ใน 3ประเด็นหลัก ได้แก่  (1) ภาพเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด 19 และมุมมองไปข้างหน้า (2) สิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการเพื่อช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้เรากลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด และ (3) การประเมินผลมาตรการ ธปท. และแนวทางการปรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

โดยธปท.ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด -19  ส่งผลต่อขนาดของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) ซึ่งเป็นผลจากในช่วงปี 2563-2564โควิด 19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย   คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท  ทั้งนี้ เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP  การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

 เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%  ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว 

ต่อข้อถามในแง่ของการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น ผู้ว่าการธปท.ระบุว่า ปัจจุบัน เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิด โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 42 ณ ธันวาคม 2562 และเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดประมาณร้อยละ 14 (ร้อยละ 56  ณ มิถุนายน 2564) ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19) และกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น กรีซ (ร้อยละ 25.2)  (2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ โดยสัดส่วนหนี้ในประเทศ ณ มิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 98.2 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด (3) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาระทางการคลัง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ไม่ถึงร้อยละ 1.6 ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 3.2) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 6.3) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.1) และเวียดนาม (ร้อยละ 2.1)

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ เพราะการประเมินของบริษัทจัดอันดับฯ จะพิจารณาจากประสิทธิผลของมาตรการคลังในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา outlook ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น stable โดยมีฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง ขณะที่ความกังวลของบริษัทจัดอันดับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของไทยเพราะยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง  เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า อาทิ การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ พร้อมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภทให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้อง “ตรงจุด” และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน (Conditional transfer) พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน นอกจากนี้ หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60 พันล้านบาท(ประมาณ 60,000ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33% ต่อ GDP