‘KBANK’ ตั้งสำรองเพิ่ม 3.2 หมื่นล้าน สู้โควิด-19

19 ส.ค. 2564 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 11:56 น.

กสิกรไทยตั้งสำรอง 3.2 หมื่นล้านบาท รองรับความผันผวนเศรษฐกิจ คุณภาพหนี้ ชี้ครึ่งปีหลังยังมีความท้าทายจากโควิด ระลอก3ที่รุนแรงขึ้น ลั่นพร้อมดูแลลูกค้าเต็มพิกัด คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า  ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระดับสูง (Expected credit loss: ECL) กว่า 32,064 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2564 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่หดตัวและมีแนวโน้มว่า การฟื้นตัวจะเลื่อนเวลาออกไป รวมถึงรองรับผลกระทบจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้า เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อด้วย แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)

ส่วนทิศทางในครึ่งปีหลัง ยังคงมีความท้าทายจากโควิด-19  ธนาคารยังคงเป้าหมายทางการเงินไว้ในระดับเดิม แต่อาจจะเพิ่มความรอบคอบ (Prudent) มากขึ้น  ซึ่งความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ

 

ณ มิถุนายน 2564 ธนาคารมีสินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ  3.38 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 14% ของสินเชื่อรวม โดยลูกค้าประมาณ 97% ยังคงสามารถจ่ายชำระหนี้ได้หรือมีการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 1% ที่ปรับประมาณการไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทวีความรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ มาตรการล็อกดาวน์อาจจะต้องขยายเวลาออกไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน แต่แนวโน้มการส่งออกดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด อีกทั้งภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยตัวแปรสำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีนโควิด

 

“แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือตามนโยบายต่างๆของภาครัฐที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการช่วยพื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย”นายกฤษณ์กล่าว

อยางไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของธนาคาร โดยธนาคารยังคงดำเนินงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน และยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการดำเนินธุรกิจ ด้วยจุดมุ่งหมายในการเพิ่มอํานาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) รวมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านการบริหารความเสี่ยงนั้น ธนาคารกสิกรไทยมุ่งเสริมสร้างการบริหารความเสี่ยงให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564