“ชาติศิริ”เผยโควิดผลกระทบ “กว้าง-ลึก”กว่าวิกฤตการเงินเอเซีย และโลก ทั้งภาคธุรกิจ-ลูกค้าทั่วประเทศเข้ารับความช่วยเหลือ “ลดต้นทุน-ค่าใช้จ่าย-เติมสภาพคล่อง” ระบุจังหวะดีมีมาตรการธปท.-คลังสนับสนุน ชี้โจทย์ 5ความท้าทาย -รัฐต้องผลักดันโครงการค้างท่อปูทางเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟูกลับจุดเดิมหลังCOVID-19
นายชาติศิริ โสภณพณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือBBL กล่าวในงานสัมมนา Thailand Focus 2021:Thriving in the Next Normal ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ How Thai business Adapt to current crisis”โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เห็นได้จากความท้าทายสำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว การบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันให้กลับมา เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในตลาดโลกน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นกลับ ขณะรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ไทยอาจต้องลดน้ำหนักของการทำตลาดท่องเที่ยวแบบทั่วไป(Mass) และคงไม่สามารถคาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนแต่ต้องหันไปสู่กลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น (high value)
2. การกลับมาของความขัดแย้งทางการค้า โดยเฉพาะระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการค้าเป็นระยะ จึงเป็นประเด็นสำหรับธนาคารที่จะต้องทำงานอย่างหนัก ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตร เพื่อส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงหลังโควิด ดังนั้น จึงต้องปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผลักดันระบบการชำระเงินระหว่างกันในระดับภูมิภาค จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรารักษาตำแหน่งในตลาดการค้าระหว่างประเทศเอาไว้ได้
นอกจากนี้การปรับรูปแบบเครือข่ายการค้าระหว่างจีนและอาเซียน เช่น รถไฟความเร็วสูงจากจีนมายัง สปป. ลาว จะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในภูมิภาค และการปรับตัวขยายไปสู่พื้นที่ทางการค้าใหม่ๆมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
3. เรื่อง Supply Chain ซึ่งปัญหาจากโควิด-19 ไทยถูกท้ายเรื่องซัพพลายเชน ยกตัวอย่าง 3.1.ด้านสาธารณสุข (Healthy care) ซึ่งโควิด-19 สะท้อนให้เห็นประเทศไทยต้องการระบบซัพพลายเชนของตัวเองเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนภายในประเทศเป็นลำดับแรก บริษัทผู้ผลิตยาส่วนใหญ่ในอาเซียนอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบ อาเซียนต้องนำวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาปีละประมาณ 4 ล้านตัน
ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นโอกาสสำคัญอุตสาหกรรมในไทยที่จะขยายศักยภาพไปสู่ตลาดวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา (ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการพัฒนาศักยภาพเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น PTT อยู่ระหว่างการเข้าซื้อหุ้น Lotus Phamaceutical ในกิจการยาในไต้หวัน ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
3.2. เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ( Aging Society) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมี Supply Chain สำหรับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและขณะเดียวกันจะเพิ่มโอกาสสำหรับการส่งออกของธุรกิจไทยอีกด้วย
3.3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถูกท้าทายเรื่อง Supply Chain จากผู้ผลิตขนาดใหญ่หลายรายต่างกำลังมองหาฐานการผลิตสำรองในอาเซียนเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มเติมจากจีน (China+1 Strategy) โดยเฉพาะโอกาสด้าน Supply Chain เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขั้นสูง
3.4. อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะเปลี่ยนภาพไป การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในตลาดโลกจะแซงหน้าการผลิตรถยนต์แบบเดิมในปี 2030 ซึ่งผู้ผลิตไทยมีความพร้อมที่จะปรับตัวในประเด็นนี้
3.5.เรื่องพลังงานทดแทน ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่า 6เท่า เติบโตมากกว่า 40% ต่อปี โดยไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์สำหรับด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งออกไปไปยังสหรัฐ ยุโรป และอีกหลายประเทศในเอเชีย
4. เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ จะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลจะต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ทั้งท่าเรือ รางรถไฟ และถนน รวมถึงการเดินหน้าสู่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก( EEC) ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศสู่ประเทศไทย
5. เรื่องตลาดแรงงาน เนื่องจากมีคนจำนวนมากตกงานและย้ายกลับไปอยู่ภูมิลำเนา จึงควรต้องมีนโยบายสนับสนุนให้มีงานทำ หรือเริ่มต้นทำธุรกิจในชุมชนของตัวเอง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้
นายชาติศิริ กล่าวย้ำว่า ประเด็นเหล่านี้นับเป็นความท้าทาย รวมถึงธุรกิจธนาคารที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า เชื่อมต่อกับระบบการใช้จ่ายเงินที่ลูกค้าใช้งาน รวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคนและธุรกิจเอสเอ็มอีได้
ต่อข้อถามธนาคารยังคงมีมุมมองเชิงบวกที่ไทยจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาในจุดเดิมนั้น นายชาติศิริบอกว่ายังมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น SCG และ Central Group และอีกหลายบริษัท ยังคงอยู่ในตำแหน่งทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยนำความเปลี่ยนแปลง และกระตุ้นเอสเอ็มอีให้เติบโต รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการอยู่จะช่วยแก้ไขให้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากในระยะสั้นไปได้ รวมถึงการวางแผนในระยะยาวเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในเวลานี้ แต่ยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้หลังจากสถานการณ์นี้ผ่านพ้นไป โดยเฉพาะการกลับมาของความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการค้าเป็นระยะ ดังนั้น จึงต้องปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราจะต้องทำงานอย่างหนัก ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตร เพื่อส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงหลังโควิด ผลักดันระบบการชำระเงินระหว่างกันในระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรารักษาตำแหน่งในตลาดการค้าระหว่างประเทศเอาไว้ได้”
ในแง่ภาคการเงินนั้น นายชาติศิริ กล่าวยอมรับว่าผลกระทบจาก Covid-19 กว้างกว่า และลึกกว่าวิกฤตการเงินในเอเชียปี2540 และวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 เห็นได้จากลูกค้าจำนวนมากจากทั่วประเทศเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ โดยมีความพยายามที่จะลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งธนาคารได้สนับสนุนสภาพคล่องที่เพียงพอ
สิ่งที่สำคัญ คือ พยายามช่วยเหลือให้ธุรกิจมีสภาพคล่องที่จะรองรับกับสถานการณ์เพื่อช่วยรักษาการจ้างงาน และการมีมาตรการจาก ธปท. และกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ รวมถึงให้บริการทางการเงินตลอดทั้งซัพพลายเชนเพื่อช่วยให้การจัดการทางการเงินดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม Covid-19 ก็ยังนำมาซึ่งโอกาสอีกหลายธุรกิจ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที และธุรกิจดีลิเวอรี่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน(WFH) การเพิ่มขึ้นของช่องทางการชำระเงินใหม่ ธุรกิจขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ของตนเองและ marketplace มากขึ้น ขณะที่ร้านค้ารายเล็กก็เพิ่มช่องทางการขายผ่านช่องทางโซเชียล( เช่น AliPay และ WeChat Pay)
ส่วนธนาคารกรุงเทพได้ยกระดับการทำ Digital transformation ย้ายระบบการทำงานขึ้นมาอยู่บน Cloud และอัปเกรดระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อประสานการทำงานและยังคงสร้างประโยชน์แก่ลูกค้าได้เช่นเดิมแม้จะต้องปิดสาขาหรือทำงานที่บ้าน
“สำหรับธุรกิจสถาบันการเงิน เรายังคงต้องช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ ในขั้นแรก เราช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก และขั้นต่อมา เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมา เราก็เตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจที่จะช่วยให้กิจการกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง (Reset and Restart) และขั้นที่ 3 เราจะช่วยลูกค้าแสวงหาตลาดใหม่ๆ และการปรับตัว ในสภาวะตลาดยุคหลังโควิด”