ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยาหรือ BAYกล่าวในงานสัมมนา Thailand Focus 2021:Thriving in the Next Normal ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ Living in Next Normal: Covid-19 Lessons Learned and Future Directions :วิถีดำรงชีพยุคใหม่ : ถอดบทเรียนโควิด-19 สู่ทิศทางแห่งอนาคต” โดยระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลสะเทือนจากโควิดอย่างมาก แต่ภาคธุรกิจต่าง ๆ นั้นได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
ทีมวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้คำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เอาไว้ รวมทั้งการฟื้นตัวด้วย โดยพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดนั้น มีรายได้ลดลงระหว่าง 30-50% ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมสันทนาการและภาคบริการ ส่วนกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งที่ได้รับผลกระทบน้อยก็อย่างเช่น อาหาร โทรคมนาคม
ดร.สมประวิณกล่าวถึงการฟื้นตัวว่า ภาคที่ได้รับผลกระทบมากก็ย่อมฟื้นตัวช้า อย่างอุตสาหกรรมการบิน ท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงปลายปี ไปจนถึงต้นปี2565 แต่อาจจะต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปีกว่าที่การท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม โดยได้จัดแบ่งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็น 4ระยะ ได้แก่ 1. ระยะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและกิจการภายในประเทศ 2. กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย 3. ทำข้อตกลงพิเศษ หรือที่เรียกว่า Bubble Tourism กับประเทศอื่น ๆ และ 4.การกลับไปสู่ภาวะปกติซึ่งเป็นระยะสุดท้าย
“ เมื่อต้นปีมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนจากระยะ 2 เข้าสู่ระยะที่ 3 แต่การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าทำให้กลับไปสู่ระยะ 1 ทันที อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการที่ประเทศไทยมีวัคซีนเพิ่มขึ้น จะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังโควิด โดยอุตสาหกรรมต้องปรับตัวหรือมีการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านประกอบด้วย 1. ด้านสังคมในอนาคต คนจะมีอายุยืนขึ้น ดังนั้นจะมีคนหลายรุ่นอยู่ในสังคม ซึ่งแต่ละช่วงวัยนั้นมีความต้องการเฉพาะตัว ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวและทำแผนให้ครอบคลุมความต้องการของคนแต่ละช่วงอายุด้วย
2. การทำแผนการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องของชนชั้นกลาง ซึ่งต้องสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยว ที่หลากหลายเฉพาะตัวมากขึ้น 3. การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ระบบนำร่อง(Navigation System )การจองตั๋ว ที่พัก และบริการออนไลน์ และอื่น ๆ ที่ควรนำมาใช้เพื่อให้นักท่องเที่ยววางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
4. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความสนใจมากขึ้น และคนจะสนใจการป้องกันหรือการทำให้มีสุขภาพดีไว้เสมอมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพมาก
"ประเทศไทยต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการออกแบบตลาดที่เหมาะกับลูกค้า สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ รวมทั้งธุรกิจที่มีอยู่ต้องแสวงหาผู้ร่วมทุน หรือ ผู้ร่วมกิจการที่มีความแข็งแกร่งในด้านทุน หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการตลาดเพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเข้มแข็ง"ดร. สมประวิณกล่าว