สรรพากร เปิด 5 กลุ่มธุรกิจเข้าข่ายเสียภาษีอี-เซอร์วิส" ดีเดย์ 1 ก.ย. นี้

01 ก.ย. 2564 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 10:53 น.

กรมสรรพากร ตั้งเป้ารายได้ภาษี อี-เซอร์วิส จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ปีงบฯ 64 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เปิด 5 กลุ่มธุรกิจเข้าข่ายต้องเสียภาษี

มีผลแล้ว! "ภาษีอี-เซอร์วิส"กรมสรรพากร ที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.บ. e-Service (อี-เซอร์วิส) สำหรับแพลตฟอร์ม ที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีในอัตรา 7%ของราคาค่าบริการ  โดยผู้ให้บริการจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือนภายในวันที่ 23 ในเดือนถัดไป ดังนั้นภายในเดือนตุลาคมก็น่าจะทราบว่า วงเงินชำระภาษีของผู้ประกอบรายใดเป็นเท่าไร  กรมสรรพากรคาดว่าจะมีรายได้ภาษี อี-เซอร์วิส ในปีงบประมาณ 2564 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาษีอี- เซอร์วิส  ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายมากกว่า 2 ปี จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วมากกว่า 50 ราย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บภาษีประเภทนี้ 

5 กลุ่มธุรกิจเข้าข่ายเสีย"ภาษีอี-เซอร์วิส"

ธุรกิจอี-เซอร์วิส ที่ต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีภายใต้กฏหมายใหม่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

  • ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์  อาทิ อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay) ส่วนมาร์เกตเพลส เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน แต่ไม่เข้าข่ายเพราะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และมีการชำระภาษีก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
  • ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์   อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) กูเกิล (Google)  ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใดๆได้เลย
  • ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พักและการเดินทาง อาทิบุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb)
  • ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ได้แก่บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี เช่น แกร็บ (Grab) เป็นต้น
  • ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกมส์ และคอนเสิร์ต อาทิ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สปอร์ติฟาย (Sportify) แอปเปิลเพลย์ (Apple Play), ซูม (Zoom) เป็นต้น

ทั้งนี้กรมสรรพากร ตั้งเป้าหมายจะมีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างชาติ เข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม( VAT)ไม่น้อยกว่า 100 ราย จากปัจจุบันหลังเปิดให้ลงทะเบียนฯตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนแล้ว 51 ราย จาก 15 ประเทศ  อาทิ เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไมโครซอฟท์, อเมซอน, แอร์บีเอ็นบี, แอปเปิล , ซูม, Digital-Ocean, Humble Bundle เน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์, Hubspot, Coda เป็นต้น