นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 21-22 กันยายนนี้ หาก Fed ส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) รวมถึงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงในปี 2567 ต่อเนื่องจากที่เคยส่งสัญญาณว่า จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนได้
ดังนั้น เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน ในช่วงนี้ธนาคารทิสโก้ได้แนะนำให้ลูกค้ามั่งคั่งสูง ทยอยเพิ่มน้ำหนัก และกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรกว่า 70% อีกทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่าสหรัฐฯ รวมทั้งราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ และสหภาพยุโรปยังอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อ Fed ส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินที่เข้มข้น ย่อมส่งผลให้เงินลงทุนจะไหลเข้าไปหาตลาดหุ้นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น ซึ่งทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นยุโรปน่าจะได้รับอานิสงส์นี้ เพราะเศรษฐกิจยุโรปเริ่มทยอยฟื้นตัวจากการคลาย Lockdown ในหลายประเทศ และประชากรกว่า 70% หรือประมาณ 250 ล้านคนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว”นายณัฐกฤติกล่าว
นอกจากนนั้น ถึงนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายกว่าในสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ PEPP 1.85 ล้านล้านยูโร ซึ่งจะครบกำหนดเดือน มีนาคม 2565 อีกทั้งยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไปจนถึงต้นปี 2566
ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่าระหว่างตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐฯ พบว่า Forward P/E ของยุโรป (Stoxx600) อยู่ที่ระดับ 16 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ที่อยู่ระดับ 22 เท่า ทำให้ค่าส่วนต่างระหว่าง Forward P/E ของยุโรปและสหรัฐฯ ต่างกันถึง 35% ซึ่งเป็นระดับที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นยุโรปก็มีมีโอกาสเติบโตดี สะท้อนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น Stoxx600 ที่ประกาศออกมาในไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 240% เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับกลุ่มหุ้นที่มีความโดดเด่นในตลาดหุ้นยุโรป และธนาคารแนะนำให้ทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้แก่ หุ้นในกลุ่ม “New Economy” เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคมดิจิทัล เนื่องจากในปี 2563 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ผ่านร่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ (EU Recovery Fund) วงเงิน 1.82 ล้านล้านยูโร ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงที่สุดที่เคยทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติสมาชิกจากผลกระทบวิกฤต COVID-19
ในวงเงินจำนวนนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เน้นใช้เงินไปกับการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (Green Deal) กว่า 30% และอีก 20% ใช้สำหรับเปลี่ยนแปลงยุโรปเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital EU) ที่จะเปลี่ยนให้ยุโรปเติบโตไปกับ New Economy และผลักดันให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)
ปัจจุบันยุโรปนับว่า เป็นกลุ่มประเทศที่รวมธุรกิจด้าน Green Energy ยักษ์ใหญ่มากที่สุดในโลก โดย 10 บริษัทด้าน Green Energy ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นยุโรปมากถึง 8 บริษัท เช่น ผู้นำด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์อย่างบริษัท Orsted และ Vestas Wind จากประเทศเดนมาร์ค
อีกทั้งสภาพยุโรปยังมีนโยบายเปลี่ยนรถบนถนนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 30 ล้านคันภายในปี 2573 โดยบริษัทมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในยุโรปอย่างบริษัท Volkswagen (VW) คาดการณ์ว่า ยอดขายรถ Battery Electric Vehicle (BEV) ของ Volkswagen ทั่วโลกจะสูงกว่า TESLA ภายในปี 2565 นอกจากนี้ภายในปี 2568 สภาพยุโรปตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในยุโรปก็มีโอกาสเติบโตได้อย่างโดดเด่น ตามการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของยุโรป โดยในช่วงที่ผ่านมามี Platform และ E-commerce เกิดขึ้นใหม่หลายบริษัท เช่น บริษัท HelloFresh ของประเทศเยอรมนี ที่ให้บริการจัดส่ง Meal Kits ชุดอาหารพร้อมปรุงที่มีวัตถุดิบต่างๆ มาให้ลูกค้าปรุงเองที่บ้าน โดยมีฐานลูกค้าครอบคลุม 14 ประเทศทั่วโลก ได้จัดส่งชุด Meal Kits มากกว่า 600 ล้านชุด ซึ่งในปี 2563 สร้างรายได้สูงกว่า 3,749 ล้านยูโร เติบโตกว่า 107% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และบริษัทคาดว่าในปี 2564 รายได้จะเติบโตประมาณ 35-45%