นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาลและไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับการทบทวนกรอบหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้จะมีการนำเสนอมติการปรับเพดานหนี้ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาวันที่ 21 ก.ย.64 ทันที โดยการปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จะช่วยเปิดช่องให้รัฐบาลมีโอกาสออกฎหมายกู้เงินสำหรับใช้รับมือโควิดและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบ 65 ได้อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม เรื่องการกู้จะต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ไม่จำเป็นว่าเมื่อขยายเพดานหนี้แล้วจะต้องกู้เพิ่ม เพราะขณะนี้รัฐบาลยังเหลือกรอบเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน อีกกว่า 4.2 แสนล้านบาทให้ใช้ได้
ทั้งนี้ข้อมูล สถานการณ์หนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2564 พบว่า อยู่ที่ 8,909,063 ล้านบาท คิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ที่ 16,027,047 ล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้ แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 7,836,723 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 781,052 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 284,141 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,146 ล้านบาท