นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้แจงว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเมื่อวานนี้ (20 กันยายน 2564) ที่ประชุมเห็นชอบการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เป็นร้อยละ 70 ของ GDP (จากร้อยละ 60 ของ GDP) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ซึ่ง ธปท. เข้าร่วมประชุมและเห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ยังต่ำ โดยการใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับมาที่ร้อยละ 60 ให้ได้ในระยะต่อไป
การขยายเพดานหนี้สาธารณะในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพื่อให้ถึงเพดานหนี้สาธารณะ แต่เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินมาตรการให้กับภาครัฐ เนื่องจากมาตรการทางการคลังยังจำเป็นต้องมีบทบาทต่อเนื่องในการช่วยเสริมรายได้ของประชาชนที่ลดลงมาก เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว นอกจากนี้ พ.ร.ก. 5 แสนล้านที่จะกู้เพิ่มเติมในปีนี้และปีหน้าเพื่อใช้เยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าร้อยละ 60 ในปี 2565 อยู่ก่อนแล้ว
ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นครั้งนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก (1) เพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ไม่ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ร้อยละ 55.6 เทียบกับระดับปัจจุบันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ประมาณร้อยละ 120 และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่ประมาณร้อยละ 70
(2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 98.2) และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทย ณ วันที่ 20 กันยายน 2564 อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับเกินร้อยละ 3
และ (3) ความเสี่ยงในการถูกปรับลด credit rating ของไทยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการประเมินความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศจะขึ้นกับประสิทธิผลของมาตรการในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่มี credit rating ระดับเดียวกับไทย มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่าไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่น อินเดียที่ร้อยละ 87 และมาเลเซียที่ร้อยละ 67
นอกจากนี้ ธปท. ยังเห็นว่าระบบการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการออกพันธบัตรรัฐบาลในอนาคต โดย ธปท. ได้ประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐจะต้องเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) เช่น มาตรการคนละครึ่งและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงาน โดยอาจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจ
ขณะที่การเยียวยาต้องทำให้ตรงจุดเท่าที่จำเป็น และต้องมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยระยะต่อไป ภาครัฐต้องมีแนวทางชัดเจนที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลง เพื่อรักษาวินัย รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ และการเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว