คลัง ขยายยกเว้นภาษีเงินได้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดให้บุคลากรแพทย์ อีก 1 ปี

21 ก.ย. 2564 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 18:04 น.

"กรมสรรพากร" ขยายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าตอบแทนเสี่ยงภัย COVID – 19 ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ออกไปอีก 1 ปีภาษี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า“คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบหลักการมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขในปีภาษี 2564 เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษี และสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานสู้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)”

​​นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับ

1.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวังสอบสวน ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

3.ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จ่ายให้ในปีภาษี 2564 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง”
 

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การยกเว้นภาษีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาภาระภาษีและสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เช่น แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สืบสวนโรค พนักงานขับรถรับส่งผู้ป่วย รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านสาธารณสุข เป็นต้น”

ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. อนุมัติหลักการการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)โดยขยายเวลาออกไปอีก1 ปีภาษี(สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2564) เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ได้รับการบรรเทาภาระภาษีและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ระบุว่า หากมีการจ่ายค่าตอบแทนโดยไม่ได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท